Image via Wikipedia
Politics - Manager Online
อย่างไรก็ดีอีกมุมหนึ่งก็มีเสียงนินทาเข้าหูเช่นเดียวกันว่า งานนี้มีการวิ่งเต้นกันทั้งสองทาง นั่นคือฝ่ายหนึ่งวิ่งเต้นทางคณะกรรมการกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่พ่อค้าอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ในประเทศวิ่งเต้นในคณะกรรมการอีกชุด มันจึงเกิดปัญหางัดข้อกันชุลมุนวุ่นวายหรือเปล่า
กลายเป็นประเด็นฮือฮาขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ กับการออกมา “โดดขวางลำ” เต็มตัวของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ยอมให้โครงการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประจำปี 2551/52 จำนวน 4.4 แสนตัน จากพรรคภูมิใจไทย
ชนิดที่เรียกว่าไม่ยอมให้ผ่านไปได้ง่ายๆ หรือหากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจะไม่ยอมเป็น “ตรายาง” นั่นแหละ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ก็ต้องบอกว่าโครงการในลักษณะแบบนี้มักมีแต่เรื่องอื้อฉาว มีข้อกล่าวหาในเรื่องทุจริต ความไม่โปร่งใส ประเภทที่มีพ่อค้าร่วมมือกับนักการเมือง หรือบริษัทของนักการเมืองคว้าชิ้นปลามันไปกินอยู่เสมอ
ส่วนวิธีการก็มักจะให้ข้าราชการประจำออกหน้า และสอบสวนหาความผิดสุดท้ายก็ต้องรับกรรมกันไปแบบโดดๆ
เป็นการทำมาหากินกับงบประมาณของทางการ ซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์เกิดมาทุกยุคสมัย จนแทบกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วว่าถ้าใครเข้ามามีอำนาจก็จะเสนอโครงการหรือนำบริษัทที่ตัวเองเกี่ยวข้องเข้ามารับงานเพื่อประโยชน์เข้าพกเข้าห่ออยู่เป็นประจำ
ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆก็เกิดขึ้นกับโครงการประมูลซื้อในสต็อกของรัฐบาลจำนวน 2.6 ล้านตัน ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ ก็เกิดปัญหาลักษณะ “ฮั้ว” เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี หากว่ากันเฉพาะข้าวโพด ก็ต้องอธิบายที่มาที่ไปพอคร่าวๆก็คือ เจตนาเพื่อต้องการระบายในสต๊อกออกไป โดยวิธีการจะให้บริษัทเอกชนมาประมูลซื้อไปแล้วส่งออก อีกทั้งยังเป็นการนำเม็ดเงินมาใช้เพื่อการแทรกแซงผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละปีด้วย
และรู้กันอยู่ว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่รัฐต้องขาดทุนอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คือจะต้องไม่ใช่ลักษณะขาดทุน “บักโกรก” หรือมีการฮั้วกันหาประโยชน์ระหว่างนักการเมืองกับเอกชนแบบน่าเกลียด
หากจะกล่าวกันแบบตรงไปตรงมามันก็หนีไม่พ้นนักการเมืองได้ประโยชน์อีกเช่นเคย ส่วนใครจะได้ไปเท่าไรนั้นเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
ที่ผ่านมาคณะกรรมการของกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการประมูลขายข้าวโพดให้กับพ่อค้าส่งออกไปตั้งแต่เดือนที่แล้ว ซึ่งก็มีเสียงนินทาว่าทำให้รัฐขาดทุนสูงผิดปกติ และเคยถูก กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แห่งชาติ เบรกจนหัวทิ่มไม่ให้ผ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง และให้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่ชี้ขาด
ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ก็มีการสอบถามถึงเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการประมูลที่ออกมาในลักษณะเหมือนเป็นการ “ฮั้ว” กัน เพราะมีบางบริษัทได้โควตาไปถึง 4 แสนตัน ขณะที่บริษัทอื่นๆได้ไปเพียงไม่กี่หมื่นตัน ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน
และการประมูลดังกล่าวว่ากันว่ามีการฟันกำไรส่วนต่างกันอู้ฟู่ เล่นกันเป็นพันล้าน นักการเมืองกับพ่อค้าล่อกันพุงกาง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาถึงเรื่องของขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการของกระทรวงพาณิชย์ที่แต่งตั้งมาตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว กับคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน
มีการถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียดว่า ชุดไหนจะมีอำนาจโดยให้เหตุผลว่า เมื่อรัฐบาลชุดก่อนพ้นไป และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาก็ต้องหมายความว่าชุดปัจจุบันมีอำนาจในการดำเนินการ
อย่างไรก็ดีอีกมุมหนึ่งก็มีเสียงนินทาเข้าหูเช่นเดียวกันว่า งานนี้มีการวิ่งเต้นกันทั้งสองทาง นั่นคือฝ่ายหนึ่งวิ่งเต้นทางคณะกรรมการกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่พ่อค้าอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ในประเทศวิ่งเต้นในคณะกรรมการอีกชุด มันจึงเกิดปัญหางัดข้อกันชุลมุนวุ่นวาย หรือเปล่า
ดังนั้น ไม่ว่ามองในมุมไหนก็พอจะเดาออกว่าโครงการประมูลข้าวโพดครั้งนี้มีพิรุธแน่นอน ส่วนจะมีนักการเมืองจะได้ประโยชน์หรือไม่จะต้องมีการติดตามตรวจสอบกันต่อไป เพราะเชื่อว่าความจริงจะต้องปรากฏออกมา และที่สำคัญรัฐต้องไม่เสียประโยชน์
แต่ขณะเดียวกันการตรวจสอบครั้งนี้จะต้องดำเนินการไปอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ออกมาในลักษณะต่อรองผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองสองกลุ่ม หรือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ไม่เช่นนั้นก็ถือว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร
เพราะหนีไม่พ้นธุรกิจการเมือง เป็นวงจรอุบาทว์อยู่ดี !!