Find Other Sides of Thai Politic. Update you on the political turmoil in Thailand.

อ่าน ทวิตเตอร์

Upcoming

Monday, July 6, 2009

กษิตเลี่ยงตอบประเด็นร้อน

โพสต์ ทูเดย์ - กษิตเลี่ยงตอบประเด็นร้อน
กษิตถึงไทยเลี่ยงสื่อรอถามลาออกหรือไม่ตร.ออกหมายเรียกคดีปิดสนามบิน
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังเดินทางกลับจากการปฏิบัติภารกิจที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยเที่ยวบิน QR-0612 เมื่อเวลา 07.24 น. ซึ่งนายกษิต ไม่ได้เดินออกมาทางอาคารห้องรับรองพิเศษ แต่คาดว่า จะเดินออกมาที่ชั้น 2 ของอาคารดังกล่าวแทน

ทั้งนี้ นายกษิต เป็น 1 ใน 36 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกหมายเรียกของพนักงานสอบสวนในข้อหาการก่อการร้าย กรณีการชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.00 น. นายกษิต จะเดินทางไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนที่สโมสรตำรวจ


เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 5) : แฉลูกเล่นบีอีซีใช้อุปกรณ์-เช่าที่ดิน

Business - Manager Online
ความถูกต้องโปร่งใสในการปฏิบัติตามสัญญาด้านการโอนทรัพย์สินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ อสมท

เงื่อนไขในสัญญาร่วมดำเนินกิจการระหว่าง อสมท กับ บีอีซี ระบุว่า “บรรดาสิ่งก่อสร้างทุกอย่างที่ได้ก่อสร้างขึ้นบนที่ดิน อีกทั้งทรัพย์สินทุกอย่างยกเว้นเงินทุนที่ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ได้กระทำขึ้นหรือได้จัดหามาสำหรับใช้สอยในการดำเนินงานตามสัญญานี้ทุกๆอย่าง ไม่ว่าได้มาตามสัญญาข้างต้นนี้ หรือได้กระทำขึ้นหรือได้จัดหามาในระหว่างการดำเนินการตามสัญญานี้ก็ดี ให้ตกเป็นทรัพย์สินของ อสมท ทั้งสิ้น นับแต่วันที่ได้กระทำขึ้นหรือได้จัดหา”

จากการตรวจสอบทรัพย์สินที่ อสมท รับโอนจากบีอีซี พบทรัพย์สินที่ควรกล่าวถึง 3 รายการ ดังนี้

(1) รายการที่ 1 สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF ออกอากาศรายการช่อง 3 ณ อาคารใบหยก 2 กรุงเทพมหานคร
(2) รายการที่ 2 สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF ช่อง 41 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
(3) รายการที่ 3 อุปกรณ์ดำเนินงานโทรทัศน์ให้เช่าที่ปรากฏในงบการเงินของบีอีซีแอสเซท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548

การตรวจสอบแต่ละรายการพบว่า รายการที่ 1 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 บีอีซีได้มีจดหมายถึงผู้อำนวยการ อสมท เรื่องขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF ออกอากาศรายการช่อง 3 ณ อาคารใบหยก 2 กรุงเทพมหานคร โดยได้ใช้เสาส่งโทรทัศน์ และระบบสายอากาศโทรทัศน์ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ของไอทีวี ณ อาคารใบหยก เนื่องจากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสัญญาณจากระบบ VHF Band 1 เป็น UHF

กรณีที่บีอีซีตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF โดยใช้เสาส่งโทรทัศน์และระบบสายอากาศส่งโทรทัศน์ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ของไอทีวีทำให้บีอีซีไม่สามารถโอนเสาส่งโทรทัศน์และระบบสายอากาศส่งโทรทัศน์ให้เป็นทรัพย์สินของ อสมท ได้เมื่อจัดหา เนื่องจากเสาส่งโทรทัศน์และระบบสายอากาศส่งโทรทัศน์ดังกล่าวไม่ได้เป็นทรัพย์สินของบีอีซี แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวอาจถือเป็นการผิดสัญญาที่ทำไว้กับ อสมท แม้ว่าบีอีซี จะได้ทำหนังสือแจ้งต่อผู้อำนวยการ อสมท แล้วก็ตาม

รายการที่ 2 สืบเนื่องจากการตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF บีอีซีได้ทำการสรางสถานีวิทยุโทรทัศน์ จากที่ตั้งเดิมคือ เขายายเที่ยง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ไปที่ตำบลบ้านใหม่อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา แต่ในการย้ายครั้งนี้ บีอีซี ได้ส่งสถานีส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF บนที่ดินเช่า ดังนั้น ในการโอนสถานีส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHFและทรัพย์สินอื่นที่จัดหาให้แก่ อสมท บีอีซีซึ่งไม่สามารถโอนที่ดิน 1 แปลง ( จำนวนเนื้อที่ดิน 749 ส่วนจากเนื้อที่ดินจำนวน 1,208 ส่วนตามโฉนดที่ดินเลขที่ 128086 หน้าสำรวจ 14606 ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ) ที่เป็นที่ตั้งของสถานีส่งให้ อสมท แม้ว่าในหนังสือลงวันที่ 3 สิงหาคม 2548 บีอีซี จะยืนยันว่า บรรดาทรัพย์สินต่างๆ ที่จัดหาเพื่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF ช่อง 41 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา บีอีซียินดียกให้เป็นทรัพย์สินของ อสมท ก็ตาม

จากการตรวจสอบเอกสารการเช่าที่ดินของ บีอีซี พบว่า บีอีซี ( โดยประสาร มาลีนนท์ และนางอัมพร มาลีนนท์ ) ได้ทำการเช่าที่ดินจากบริษัท บีอีซี แอสเซท จำกัด (“บีอีซีแอสเซท”) ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้อง ( โดยนางรัตนา มาลีนนท์และประชา มาลีนนท์ / ทั้งนี้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และบริษัท บีอีซี แอสเซท จำกัด เป็นบริษัทที่ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ99.99 และทั้ง 2 บริษัทนี้มีนายประสาร มาลีนนท์ นางอัมพร มาลีนนท์ นางรัตนา มาลีนนท์ นายประชุม มาลีนนท์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน )

โดยสัญญาเช่าระบุว่า บีอีซีแอสเซท จำกัด ( “บีอีซีแอสเซท”) ตกลงให้บีอีซีเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 15 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าเป็นรายเดือน (อัตราค่าเช่า ปีที่ 1 – 5 เดือนละ 10,000 บาท ปีที่ 6 - 10 เดือนละ 12,000 บาท ปีที่ 11 - 15 เดือนละ 14,000 บาท หลังจากหมดสัญญา บีอีซีต้องแสดงความประสงค์ในการต่ออายุสัญญาเช่าไม่น้อยกว่า 60 วัน

นอกจากนั้นสัญญาเช่ายังระบุเงื่อนไขในการรื้อถอนว่า ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเช่าหรือเมื่อผู้เช่าใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิแจ้งให้บีอีซีแอสเซททราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ว่าผู้เช่าประสงค์จะให้อาคาร สิ่งปลูกสร้าง และการปรับปรุงใดๆ บนที่ดินเช่า ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบีอีซีแอสเซท หรือประสงค์จะดำเนินการรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และการปรับปรุงใดๆ ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่า และส่งมอบที่ดินเช่าโดยไม่มีสิ่งสร้างหรืออาคารเหนือพื้นดินในสภาพที่เรียบร้อย

เงื่อนไขในสัญญาเช่าทำให้เห็นว่า การเช่าที่ดินระหว่างบีอีซีและบีอีซีแอสเซทนั้น ทำขึ้นเพื่อให้สิ้นสุดวันเดียวกับการที่ต่อสัญญาอัตโนมัติตามการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มีนาคม 2563 นั่นหมายความว่า เมื่อสัญญาระหว่าง อสมท กับ บีอีซี สิ้นสุดลง อสมท จะตกอยู่ในฐานะที่ต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตั้งอยู่บนที่ดินเช่าตามเงื่อนไขในสัญญาเช่า อสมท มีทางเลือกที่จะส่งมอบทรัพย์สินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบีอีซีแอสเซท หรือรื้อถอนทรัพย์สินนั้นออกจากที่ดินด้วยค่าใช้จ่ายของ อสมท เนื่องจาก อสมท เป็นเจ้าของทรัพย์สิน

การจัดหาที่ดินของบีอีซีโดยใช้วิธีเช่าจากบีอีซีแอสเซทแทนการจัดหาโดยวิธีซื้อเสร็จเด็ดขาด ทำให้บีอีซีไม่สามารถโอนที่ดินที่เช่าให้เป็นทรัพย์สินของ อสมท การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพยายามของบีอีซีที่จะหลีกเลี่ยงการส่งมอบที่ดินให้ อสมท ตามสัญญา พฤติกรรมดังกล่าวส่อให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องโปร่งใส
(โดยเฉพาะเมื่อที่ดินนั้นเป็นทรัพย์สินของบีอีซีแอสเซท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบีอีซีเวิลด์และบริหารงานโดยกลุ่มมาลีนนท์ผู้รับสัญญาจาก อสมท ) และอาจส่งผลให้ อสมทได้รับความเสียหายในอนาคตจากการที่จะต้องรื้อถอนทรัพย์สินออกที่ดินเช่า หรือจากการที่จะต้องสร้างสถานีส่งโทรทัศน์สีขึ้นใหม่ หรือจากการดำเนินงานที่อาจจะต้องหยุดชะงักลง

รายการที่ 3 จากการสอบทานงบการเงินของบีอีซีแอสเซทพบว่า ในงบดุลสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 บีอีซีแอสเซทแสดงอุปกรณ์ดำเนินงานโทรทัศน์ให้เช่าจำนวน 222 ล้านบาท (ก่อนหักค่าเสื่อมราคาสะสม ) จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทรัพย์สินดังกล่าวอาจจะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการโทรทัศน์สีช่อง 3 ซึ่งบีอีซีต้องโอนให้ อสมท เมื่อจัดซื้อหรือจัดหา แต่บีอีซีอาจหลีกเลี่ยงการโอนกรรมสิทธิ์ให้ อสมท โดยการเช่าทรัพย์สินนั้นจากบีอีซีแอสเซท ( เช่นเดียวกับกรณีที่ดินเช่าที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้)

อย่างไรก็ตามคณะทำงานไม่สามารถหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า อุปกรณ์ดำเนินงานโทรทัศน์ให้เช่าประกอบด้วยรายการใดบ้างรายการใดบ้าง เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลของบีอีซีแอสเซทได้


เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 4) รายได้ก้าวกระโดดแต่จ่ายคงที่

Business - Manager Online
ในการบริหารรายได้ กลุ่มมาลีนนท์สามารถกำหนดจำนวนรายได้ที่จะแสดงในงบการเงินของบริษัทที่เกี่ยวข้องภายในกลุ่มโดยอาศัยการซื้อขายระหว่างกัน ในทำนองเดียวกัน ในการบริหารทรัพย์สิน กลุ่มมาลีนนท์สามารถกำหนดให้บริษัทย่อยบริษัทหนึ่งได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ขณะที่บริษัทที่เกี่ยวข้องอื่นสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นในการดำเนินงานโดยการเช่าระหว่างกัน

จากงบการเงินของบีอีซีนับจากปี 2530 ถึงปี 2548 เทียบกับเหตุการณ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จำนวนรายได้ และอัตราการเติบโตของรายได้ของบีอีซี ในช่วงปี 2530 ถึง 2548 สามารถสรุปได้ดังนี้

ช่วงปี 2530 – 2532 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลบังคับใช้ รายได้เฉลี่ยต่อปีโดยประมาณ 298 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลีย่ของรายได้ประมาณ 9%

ช่วงปี 2533 - 2536 หลังการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลบังคับใช้และก่อนปรับโครงสร้างใหญ่เพื่อรวมกิจการกับบีอีซีเวิลด์ รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 684 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ 30%

ช่วงปี 2537 – 2539 ระหว่างการปรับโครงสร้างใหญ่และรวมกิจการกับบีอีซีเวิลด์ (บีอีซีเวิลด์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เดือน พ.ย. 2538 ) รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,391 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ 22%

ช่วงปี 2540 – 2542 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,331 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ ติดลบ 10%

ช่วงปี 2543 – 2548 ฟื้นตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจ รายได้เฉลี่ยต่อปีโดยประมาณ 2,167 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ยของรายได้ 15%

จากข้อมูลดังกล่าวเป็น่ที่น่าสังเกตว่า ก่อนปี 2533 (ก่อนที่การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 จะมีผลบังคับใช้ ) รายได้ของบีอีซีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9 แต่ว่านับจากปี 2539 ( หลังจากการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลบังคับใช้จนถึงปีหลังจากที่บีอีซีเวิลด์เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ) รายได้ของบีอีซีเติบโตแบบก้าวกระโดด ( เฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 ในช่วงปี 2533 ถึงปี 2536 และร้อยละ 22 ในช่วงปี 2537 – 2539 )

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ถึง 2542 แม้ว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้จะติดลบ หากแต่จำนวนรายได้เฉลี่ยต่อปีของบีอีซียังสูงถึง 1,331 ล้านบาท หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ( ปี 2543 – 2548 ) รายได้ของบีอีซีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 15 ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 2,167 ล้านบาท

จากข้อมูลนี้ได้ข้อสังเกตุว่า กลุ่มมาลีนนท์ประสบความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าการลงทุนจากการวางกลุยุทธ์ระยะยาวที่ชาญฉลาด กลยุทธ์ดังกล่าวจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากบีอีซีไม่ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 กับ อสมท

ในแง่ของธุรกิจ เริ่มต้นจากการเตรียมบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการทำราคาหุ้นให้เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มบริษัทจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการหารายได้ แต่สัญญาเดิมที่ทำไว้กับ อสมท กำหนดให้บีอีซีต้องจ่ายค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 6.5 จากรายได้ทั้งสิ้น ( ซึ่งทำให้ค่าตอบแทนขยายตัวไปพร้อมกับรายได้ ) กลุ่มมาลีนนท์จึงจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับวิธีคำนวณค่าตอบแทนที่จ่ายให้ อสมท และเพื่อเป็นการประกันการหารายได้ในระยะยาว กลุ่มมาลีนนท์จำเป็นต้องยืดอายุสัญญาออกไปให้นานที่สุด และทำให้การบอกเลิกสัญญามีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่สุด

กลยุทธ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัท โดยกำหนดให้บีอีซีเวิลด์ ทำหน้าที่บริษัทใหญ่ควบคุมบริษัทที่เกี่ยวข้องทุกบริษัท รวมถึงบีอีซี ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานและการบริหารทรัพย์สิน เนื่องจากบีอีซีมีข้อตกลงที่จะโอนทรัพย์สินดำเนินงานให้ อสมท ดังนั้น กลุ่มมาลีนนท์จึงจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาให้บีอีซีสามารถเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นหรือทำการเพิ่มทุนได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก อสมท เพื่อที่บีอีซีเวิลด์จะสามารถซื้อหุ้นบีอีซีในอัตราร้อยละ 99.99 ก่อนแปลงสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียน ในขณะที่บีอีซียังคงสภาพเป็นบริษัทจำกัดต่อ่ไป

ความถูกต้องโปร่งใสในการปฎิบัติตามสัญญาด้านค่าตอบแทน

จากข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของรายได้ของบีอีซีภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ( จากร้อยละ 9 ไปเป็น ร้อยละ 30 ) อาจทำให้ตั้งข้อสังเกตุได้ว่า การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาน่าจะเกิดขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากธุรกิจการส่งโทรทัศน์สีเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะเมื่อดำเนินการภายใต้ตลาดผูกขาดที่กำลังขยายตัว อย่างไรก็ตาม การพิจารณาย้อนกลับไปในอดีตอาจไม่สามารถอธิบายถึงเหตุผลในการตัดสินใจแก้ไขสัญญาในขณะนั้น ดังนั้นคณะทำงานจึงได้ทำการค้นคว้าถึงที่มาของการแก้ไขสัญญาในปี 2532

โดยในปี 2532 ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการศึกษาข้อเสนอของบีอีซีเพื่อให้คำเสนอแนะถึงความเหมาะสมในการแก้ไขสัญญาตามข้อเสนอนั้น โดยมีนายสงวน ตียะไพบูลย์สิน กรรมการ อสมท เป็นประธานคณะทำงาน หลังจากที่ได้รับคำเสนอแนะจากคณะกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวนที่ 18 เมษายน 2532 และได้รับการอนุมัติให้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2532

เหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอของบีอีซี ให้ความสนับสนุนในการแก้ไขการจ่ายค่าตอบแทนจากอัตราร้อยละไปเป็นจำนวนตายตัวตามค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่าย ( ตามที่ระบุไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 2 ) เนื่องจากนับตังแต่ ปี 2521 เป็นต้นมา บีอีซีไม่เคยมีรายได้มากพอที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท เกินกว่าจำนวนค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ตอ้งจ่าย

คณะทำงานได้ทำการคำนวณค่าตอบแทนที่บีอีซีจ่ายให้ อสมท ในระหว่างปี 2530 – 2532 ( ทุกปีที่สามารถเก็บข้อมูลได้ ) และนำมาเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายตามที่ระบุไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 2 ที่ทำขึ้นในปี 2525 ซึ่งผลที่ได้จากการคำนวณสามารถสรุปได้ดังนี้

ปี 2530 รายได้ทั้งสิ้น 272,476,982 บาท โดย 6.55 ของรายได้ทั้งสิ้นจะเท่ากับ 17,711,003 ล้านบาท โดยค่าตอบแทนขั้นต่ำตามสัญญาเท่ากับ 17,715,610 บาท

ปี 2531 รายได้ทั้งสิ้น 299,055,950 บาท โดย 6.55% ของรายได้ทั้งสิ้นจะเท่ากับ 19,438,636 บาท โดยค่าตอบแทนขั้นต่ำตามสัญญาเท่ากับ 19,487,171 บาท

ปี 2532 รายได้ทั้งสิ้น 321,616,573 บาท โดย 6.5% ของรายได้ทั้งสิ้นจะเท่ากับ 20,905,077 บาท โดยค่าตอบแทนขั้นต่ำตามสัญญากับ 21,435,888 บาท

ข้อมูลที่คำนวณออกมานี้ ยืนยันได้ว่า ค่าตอบแทนที่คำนวณจากร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งสิ้น มีจำนวนน้อยกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในทุกปีที่ทำการเปรียบเทียบ ด้วยสาเหตุนี้ บีอีซี จึงไม่เคยจ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท เกินกว่าจำนวนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายยตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าตอบแทนที่คำนวณได้ ( ร้อยละ 6.5 ของรายได้ ) มีจำนวนใกล้เคียงกับค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายอย่างน่าสงสัย ( 17.7-17.7 ล้านบาท ในปี 2530 , 19.4-19.4 ล้านบาท ในปี 2531 และ 20.9 – 21.4 ล้านบาท ในปี 2532 ) โดยเฉพาะเมื่อจำนวนค่าตอบแทนขั้นต่ำเหล่าน้นัได้กำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2525 ห้าปีก่อนที่รายได้จะเกิดขึ้นจริง

นอกจากนั้นแล้วข้อมูลรายได้ของบีอีซีเก็บจากงบการเงินที่ตรวจสอบโดยนายโชติศักดิ์ โชติกวณิก เลขทะเบียน 562 ซึ่งคณะทำงานได้ทำการค้นคว้าพบว่า นายโชติศักดิ์ทำการตรวจสอบงบการเงินของบีอีซีตั้งแต่ปี 2530 ถึงปี 2537 ยกเว้นปี 2534 ที่นายโชติศักดิ์ถูกพักใบอนุญาตการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2534 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2535 การที่นายโชติศักดิ์ถูกสั่งพักใบอนุญาตเริ่มต้นปี 2534 ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การพักใบอนุญาตของนายโชติศักดิ์เกิดจากการกระทำผิดในระหว่างปี 2530 – 2532 หรือไม่

ตามปรกติแล้วการสั่งพักใบอนุญาตของผู้สอบบัญชีนั้นมักมีสาเหตุมาจากการที่ผู้สอบบัญชีไม่ได้กระทำการตรวจสอบงบการเงินที่ตนลงลายมือชื่อรับรองหรือไม่ได้กระทำการตรวจสอบงบการเงินที่ตนลงลายมือชื่อรับรองตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างครบถ้วนทำให้งบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบนั้นขาดความน่าเชื่อถือ


เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 3) บีอีซีหัวใสปรับโครงสร้างถือหุ้น

Business - Manager Online
ขณะที่สัญญาสัมปทานบริหารช่อง 3 ต่ออีก 10 ปี (2553-2563) ของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯที่แต่งตั้งโดย บอร์ดบมจ.อสมท “ASTVผู้จัดการรายวัน” ขอนำเสนอ ผลสอบสัญญาเดิมที่ไม่เป็นธรรม ให้สาธารณชนได้รับรู้

จากประเด็นต่างๆที่ได้รายงานมาก่อนหน้านี้ และการศึกษาข้อมูลด้านการเงินของบีอีซีและบริษัทที่คาดว่าจะมีความสัมพันธ์กับบีอีซี (“บริษัทที่เกี่ยวข้อง”) เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์เชิงธุรกิจที่เกิดขึ้น การศึกษาครอบคลุมด้านต่างๆดังต่อไปนี้

1) โครงสร้างทางธุรกิจของบีอีซีและบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการกระจายทรัพย์สินและรายได้
2) ความถูกต้องโปร่งใสในการปฎิบัติตามสัญญาของบีอีซีด้านค่าตอบแทน
3) ความถูกต้องโปร่งใสในการปฎิบัติตามสัญญาของบีอีซีด้านการโอน ทรัพย์สินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ อสมท
4) จำนวนผลกระทบที่เป็นตัวเงินของการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3
5) อัตราผลตอบแทนที่ อสมท ได้รับภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3
6) การเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนที่คู่สัญญาได้รับ

โครงสร้างทางธุรกิจของบีอีซีและบริษัทที่เกี่ยวข้อง

ในปี 2510 ตระกูลมาลีนนท์และผู้เกี่ยวข้อง (ต่อไปรวมเรียกว่า “กลุ่มมาลีนนท์” ) ได้จัดจัดตั้งบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (“บีอีซี”) เพื่อรับสัมปทานการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 กับ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด การดำเนินกิจการเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2511 มาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาเกือบ 40 ปี (อายุสัญญายังเหลืออยู่อีกกว่า 10 ปี นับจากปีปัจจุบัน)

ในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มมาลีนนท์ได้ขยายเครือข่ายการทำธุรกิจโดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นหลายบริษัท (รวมเรียกว่า “บริษัทที่เกี่ยวข้อง”) เพื่อประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการโทรทัศน์สีช่อง 3 เป็นต้นว่า การจัดหา การผลิตรายการ การขายเวลาโฆษณา ทางโทรทัศน์ การถือครองและให้เช่าทรัพย์สิน และการให้บริการ ดำเนินการออกอากาศ ฯลฯ

ทั้งนี้ รายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องและลักษณะผลิตภัณฑ์หรือบริการ (ข้อมูล วันที่ 31 ธันวาคม 2548) ประกอบด้วย บริษัทย่อยที่มีการดำเนินงานแล้ว

1.บมจบีอีซี เวิลด์ จัดหา ผลิตรายการ ขายเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์ และลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสื่อโฆษณาและธุรกิจใหม่อื่นๆ
2.บจก.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์และวิทยุ
3.บจก.รังสิโรตม์วนิช จัดหา ผลิตรายการ และขายเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์
4. บจก.นิวเวิลด์ โปรดักชั่น จัดหา ผลิตรายการ และขายเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์
5.บจก.บางกอกเทเลวิชั่น จัดหา ผลิตรายการ และขายเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์
6.บจก.ยูแอนด์ไอ คอร์โปเรชั่น จัดหา ผลิตรายการ และขายเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์

7.บจก.บีอีซี แอสเซท ดำเนินการถือครองและให้เช่าทรัพย์สิน
8.บจก.บีอีซี บรอดคาสติ้ง เซ็นเตอร์ ดำเนินการให้บริการในการดำเนินการออกอากาศ
9.บจก.บีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ดิสทริบิวชั่น จัดหาและผลิตรายการโทรทัศน์
10.บจก.ทีวีบี ทรี เน็ตเวอร์ค จัดหา ผลิตรายการ และขายเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์
11.บมจ.บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จัดหา ผลิตรายการ และขายเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์ ผลิตและส่งเสริมการจำหน่ายและจัดแสดงคอนเสิร์ต ผลิตภาพยนตร์ ละคร
12.บจก.ไทยทิคเก็ตมาสเตอร์.คอม ให้บริการทำโฆษณา บริการรับจองและขายบัตรเข้าชมการแสดง

13.บจก.บีอีซี ไอที โซลูชั่น ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและขายปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และให้บริการดูแลรักษา
14.บจก.บีอีซี มัลติมีเดีย ลงทุนในธุรกิจมัลติมีเดีย
15.บจก.บีอีซีไอคอร์ปอเรชั่น ลงทุนในธุรกิจอินเทอร์เน็ตและให้บริการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน
16.บจก.โมบิ(ไทย) ให้บริการโมบายเอ็นเตอร์เทนเม้นต์
17.บจก.ดิจิตัล แฟคทอรี่ ให้บริการโมบายเอ็นเตอร์เทนเม้นต์
18.บจก.ไทยออดิโอเท็กซ์เซอร์วิส ให้บริการ ข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์

19.บจก.บีอีซี สตูดิโอ ผลิตรายการและให้บริการอุปกรณ์ห้องสตูดิโอ
20.บจก.สำนักข่าว บีอีซี ผลิตรายการข่าว
21.บจก.บางกอก แซทเทิลไลท์ แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น ให้บริการรับ-ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม
22.บจก.แซทเทิลไลท์ทีวี บรอดคาสติ้ง ให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
23.บจก.บีอีซี-เทโร เอ็กซ์ซิบิชั่น จัดการแสดงสินค้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
24.บจก.บีอีซี-เทโร อาร์เซนอล บริหารจัดการทีมฟุตบอลและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอล

25.บริษัทร่วม บมจ.ซีวีดี เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จัดจำหน่ายและให้เช่าวิดีโอเทป วีซีดี ดีวีดี
26.บจก.โซนี่ มิวสิค บีอีซี เทโร เอนเทอร์เทนเมนต์ ผลิต ซื้อ ขายแผ่นเสียง สิ่งบันทึกภาพและสิ่งบันทึกเสียง
27.บจก. เอสเอ็มบีที พับลิชชิ่ง (ประเทศไทย) ถือครอง ดูแลและจัดการลิขสิทธิ์เนื้อร้องและทำนองเพลง
28.บจก.เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร เรดิโอ (ประเทศไทย) ขายเวลาโฆษณาทางสื่อวิทยุ
29.บจก.ธีมสตาร์ พัฒนา สร้าง และจัดการแสดงทั่วโลก

ในปี 2533 กลุ่มมาลีนนท์ได้ก่อตั้งบริษัท อินฟอร์เมชั่น ซีสเท็มส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ขึ้นมาเพื่อรองรับการปรับแผนธุรกิจและปรับโครงสร้างการลงทุนครั้งใหญ่ ห้าปีต่อมาในปี 2538 บริษัท อินฟอร์เมชั่น ซีสเทมส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (“บีอีซีเวิลด์”) และได้เข้าทำการซื้อหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องของกลุ่มมาลีนนท์หลายบริษัท รวมทั้งหุ้นของบีอีซี ในปีเดียวกัน (2538) บีอีซีเวิลด์ได้ดำเนินการแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการเปลี่ยนโครงสร้างการลงทุนครั้งใหญ่นี้ บีอีซีซึ่งเป็นคู่สัญญากับ อสมท ได้กลายสภาพจากบริษัทที่ถือหุ้นโดยกลุ่มมาลีนนท์ ไปเป็นบริษัทที่ถือหุ้นร้อยละ 99.99 โดยบีอีซีเวิลด์ (ทำให้บีอีซี เวิลด์มีฐานะเป็น “บริษัทใหญ่” และ บีอีซี เป็น “บริษัทย่อย”)

สาเหตุที่บีอีซีสามารถเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นได้ในครั้งนั้น เนื่องจากว่าบีอีซีได้ทำการแก้ไขสัญญาครั้งทื่ 3 กับ อสมท ในปี 2532 ซึ่งสัญญาอนุญาติให้บีอีซีสามารถเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก อสมท

ลักษณะการจัดโครงสร้างทางธุรกิจของบีอีซีเวิลด์ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มมาลีนนท์บริหารกิจการโทรทัศน์สีช่อง 3 และกิจการที่เกี่ยวเนื่องผ่านทางบริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยรายชื่อผู้ถือหุ้นอันดับ 1 – 10 ของบริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2549 คือ
1.กลุ่มมาลีนนท์ สัดส่วน 56.61%
2.NORTRUST NOMINEES LTD สัดส่วน 8.66%
3.THE BANK OF NEW YORK (NOMINEES) LTD สัดส่วน 2.88%
4.STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY สัดส่วน 2.85%
5.CHASE NOMINEES LTD 42 สัดส่วน 2.79%
6. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด สัดส่วน 2.63%
7. CHASE NOMINEES LTD 1 สัดส่วน 1.30%
8. LITTLEDOWN NOMINEES LTD 7 สัดส่วน 1.23%
9. HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD สัดส่วน 0.97%
10. CHASE NOMINEES LTD 46 สัดส่วน 0.93%

สำหรับ กลุ่มมาลีนนท์นั้นประกอบด้วย
1. นายประวิทย์ มาลีนนฺท์ ถือหุ้นสัดส่วน 11.42%
2. นางสาวอัมพร มาลีนนท์ ถือหุ้นสัดส่วน 7.86%
3. นายประชุม มาลีนนท์ ถือหุ้นสัดส่วน 7.86%
4. นายประสาร มาลีนนท์ ถือหุ้นสัดส่วน 7.86%
5. นางสาวรัตนา มาลีนนท์ ถือหุ้นสัดส่วน 7.86%
6. นางสาวนิภา มาลีนนท์ ถือหุ้นสัดส่วน 5.89%
7. นางสาวแคทลีน มาลีนนทื ถือหุ้นสัดส่วน 3.93%
8. นางสาวเทรซิแอนน์ มาลีนนท์ ถือหุ้นสัดส่วน 3.93%

ทั้งนี้ด้วยโครงสร้างดังกล่าวนี้ทำให้กลุ่มมาลีนนท์สามารถควบคุมบริษัทที่เกี่ยวข้องที่เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันตามกฎหมาย (แต่ว่าไม่ได้แยกกันจริงในทางบริหาร) ผ่านทางบีอีซีเวิลด์ และสามารถกำหนดให้บริษัทที่เกี่ยวข้องแต่ละบริษัทแสดงรายได้และทรัพย์สินด้วยจำนวนที่ กำหนดขึ้นตามกลยุทธ์ที่วางไว้ ซึ่งสามารถให้ประโยชน์แก่บีอีซีเวิลด์ได้ทั้งในด้านการบริหาร การวางแผนภาษี การทำสัญญา และการแสดงผลการดำเนินงาน ในงบการเงิน เพราะว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องแต่ละบริษัทจะแสดงรายได้หรือทรัพย์สินด้วยจำนวนเท่าใด รายได้และทรัพย์สินเหล่านั้นจะถูกนำกลับไปแสดงรวมในงบการเงินของบีอีซีเวิลด์ โครงสร้างทางธุรกิจนี้ทำให้บีอีซีเวิลด์สามารถนำรายได้และทรัพย์สินของบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มราคาหุ้น โดยไม่ต้องกังวลกับข้อกำหนดอันเข้มงวดของตลาดหลักทรัพย์ฯ (เพราะบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ)


เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 2) แผนลดทอนอำนาจ “อสมท”

Business - Manager Online
ประเด็นที่ 5 – การบอกเลิกกรณีผิดสัญญาทำได้ยากขึ้น

การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญากรณีที่ บีอีซี ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ตกลงกัน โดยเพิ่มขั้นตอนที่ อสมท ต้องแจ้งให้ บีอีซี ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ บีอีซี ปฏิบัติตามข้อสัญญาในเวลาอันควร หากบีอีซีไม่ยอมปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา บีอีซีต้องแจ้งเหตุผลให้ อสมท ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อ อสมท พิจารณาคำชี้แจงแล้ว อสมท จึงสามารถแจ้งให้บีอีซีปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาอันควรครั้งหนึ่ง หากบีอีซียังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องในครั้งหลัง อสมท จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาลักษณะนี้เท่ากับเป็นการยื้อเวลาที่บีอีซีจะไม่ปฏิบัติตามสัญญาและลดทอนอำนาจของ อสมท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ

ประเด็นที่ 6 – การบอกเลิกกรณีไม่ผิดสัญญาไม่อยู่ในอำนาจ

ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 2 อสมท ในฐานะคู่สัญญาที่เป็นเจ้าของสัมปทานเคยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องรอให้บีอีซีผิดสัญญา แต่การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ได้ลดทอนอำนาจของ อสมท โดยกำหนดให้ อสมท มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเฉพาะเมื่อมติคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อความมั่นคงของรัฐ

ประเด็นที่ 7 – คงไว้ซึ่งการโอนทรัพย์สินเมื่อได้กระทำขึ้นหรือจัดหา

การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดให้ บรรดาสิ่งก่อสร้างทุกอย่างที่ได้ก่อสร้างขึ้นบนที่ดิน อีกทั้งทรัพย์สินทุกอย่างที่ได้กระทำขึ้นหรือจัดหามาไว้สำหรับใช้สอยในการดำเนินงานต้องตกเป็นทรัพย์สินของ อสมท ทั้งสิ้น นับจากวันที่ได้กระทำขึ้นหรือได้จัดหา

ประเด็นที่ 8 – เปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบ

การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 กำหนดให้การลดทุนเป็นกรณีเดียวที่บีอีซีต้องขอความเห็นชอบจาก อสมท ส่วนการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น การเพิ่มทุน และการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัท บีอีซีเพียงแต่ต้องแจ้งให้ อสมท ทราบภายใน 15 วัน หลังจากที่การดำเนินการแล้วเสร็จ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนี้มีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อ อสมท ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของ บีอีซี

ตัวอย่างเช่น การเพิ่มทุนของบีอีซีอาจเกี่ยวพันกับกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มคนที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง กับความรับผิดของ อสมท หรือการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในลักษณะของกลุ่มบริษัท (บริษัทใหญ่-บริษัทย่อย-บริษัทในเครือ) สามารถทำให้บีอีซีกระจายการดำเนินงานออกไปให้บริษัทในกลุ่มที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ อสมท และทำให้ อสมท

ไม่อาจควบคุมการดำเนินงานที่เคยเป็นของบีอีซีได้ นอกจากนั้น การจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในลักษณะของกลุ่มบริษัทยังทำให้รายได้รายการเดียวกันสามารถกระจายรายงานในงบการเงินของหลายบริษัท และทำให้การพิจารณาเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ อสมท ได้รับไม่โปร่งใสชัดเจน

ประเด็นที่ 9 – ไม่ยกเลิกอำนาจในการควบคุมการดำเนินกิจการ

การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ไม่ได้ยกเลิกอำนาจหน้าที่ของ ผู้อำนวยการ อสมท ที่จะควบคุมการดำเนินกิจการของบีอีซีตามสัญญาฉบับที่ 1 ซึ่งกำหนดให้ ผู้อำนวยการ อสมท หรือผู้แทนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสามารถควบคุมการดำเนินงานกิจการของบีอีซีให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี กฎ ข้อบังคับ และระเบียบต่างๆของทางราชการ ทั้งในด้านการจัดรายการ ด้านธุรกิจ และด้านเทคนิค ดังนั้น อสมท จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการควบคุมกิจการของบีอีซี (เว้นเป็นการลดทอนอำนาจตามที่กล่าวไว้ในประเด็นที่ 6 และ 8) นอกจากนั้นเงื่อนไขในสัญญายังกำหนดว่า บีอีซียินยอมจ่ายค่าตอบแทนตามที่จะตกลงกับ อสมท ให้แก่ผู้อำนวยการ อสมท หรือ ผู้แทนที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3


เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 1) “สิทธิประโยชน์ อสมท ลดลง”

Business - Manager Online
จากการติดตามข่าวสัญญาสัมปทานช่อง 3 มาอย่างต่อเนื่อง ของ ASTVผู้จัดการรายวัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ อสมท

ASTVผู้จัดการรายวัน ขอนำเสนอในอีกมุมหนึ่งของผลการศึกษาและผลสรุป ในการสอบเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานช่อง 3 ที่ทำกันมาในอดีต ซึ่งถือเป็นสัญญาที่เอกชน คือ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือบีอีซี ได้เปรียบเจ้าของสัมปทาน คือบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขสัญญากันใหม่ จะส่งผลให้ อสมท ต้องตกเป็นเบี้ยล่าง บีอีซี ต่อไปอีก 10 ปี จนถึงปี 2563 ตามการต่อสัญญาสัมปทาน ทั้งๆที่ ที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี อสมท ก็ถูก บีอีซีสูบเลือดมาตลอด

สิ่งเดียวที่ต้องเกิดขึ้น คือ การปรับตัวเลขให้บีอีซีต้องจ่ายค่าสัมปทานใหม่ไม่ให้เหมาะสมไม่น้อยกว่าเดิม พร้อมกับการปรับเงื่อนไขสัญญาใหม่ เพื่อไม่ให้ อสมท ต้องตกเป็นเบี้ยล่างอีก

ที่สำคัญ อย่าให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยเดิมเหมือนกับการแก้ไขสัญญาถึง 3 ครั้งที่ผ่านมา

การศึกษาสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ อสมท กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือบีอีซี

สืบเนื่องมาจากอดีต อสมท (เดิมคือ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ต่อมาเปลี่ยนเป็นองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และได้เปลี่ยนมาเป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ) ตามลำดับ ได้ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการกับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือบีอีซี ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเกี่ยวข้องแทน) โดยเนื้อหาของสัญญาเป็นการให้สัมปทานประเภท BTO หรือ Build-Transfer-Operate โดยกำหนดให้บีอีซีทำการจัดสร้างสถานีส่งสัญญาณโทรทัศน์สีทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและดำเนินการบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในขณะที่ อสมท ได้รับรายได้ในรูปของค่าตอบแทนในการร่วมดำเนินกิจการนั้น

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2550 นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นหลายชุดเพื่อช่วยในการดำเนินงานของ คณะกรรมการพิจารณาด้านสัญญาและกฎหมาย ซึ่งมีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธาน และจากนั้นก็มีคณะทำงานอีกหลายชุดเข้ามาทำงาน

โดยสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีระหว่าง อสมท กับ บีอีซี ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ มีด้วยกัน 4 ฉบับ คือ สัญญาฉบับแรกทำขึ้นในปี 2521 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง ในปี 2525 และปี 2530 และปี 2535 ตามลำดับ ซึ่งสัญญาณส่งโทรทัศน์สีฉบับแรกมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2523 ถึงปี 2533 แต่การแก้ไขเพิ่มเติมที่ตามมาทำให้อายุของสัญญาขยายมาจนถึงปัจจุบัน และมีผูกพันไปถึงปี 2563

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้ง 3 ครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่า การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลทำให้เงื่อนไขของสัญญาแตกต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ข้อสังเกตด้านกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 สามารถระบุได้เป็น 9 ประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 สิทธิประโยชน์ลดลง

การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลทำให้สิทธิประโยชน์ที่ อสมท ได้รับ มีจำนวนลดน้อยลง ทั้งที่มี บีอีซี (บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิในการขยายเครือข่ายการให้บริการในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีก 9 แห่ง ทั้งนี้เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาได้ยกเลิกการคำนวณค่าตอบแทนร้อยละ 6.5 จากรายได้ (การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้อนี้ บีอีซีอ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2532 ในขณะที่พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อ.ส.ม.ท. ในเวลานั้น ) และกำหนดให้ บีอีซีจ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท ในลักษณะตายตัวเป็นรายปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,205 ล้านบาท (กับค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายจตมที่ระบุไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 2 ) ซึ่งเมื่อคำนึงถึงมูลค่าของเงินตามเวลา (Time Value of Money) ที่อัตราคิดลดร้อยละ 8 แล้ว มูลค่าปัจจุบันของค่าตอบแทนดังกล่าวจะมีจำนวนเพียง 458 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 23 ล้านบาท

ประเด็นที่ 2 – ไม่ปรับค่าตอบแทนตามภาวะเงินเฟ้อในช่วง 20 ปีแรก

การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ไม่กำหนดให้ อสมท สามารถปรับค่าตอบแทนให้สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อในช่วง 20 ปีแรก (2533-2553) ทั้งที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนจากจำนวนร้อยละของรายได้ไปเป็นค่าตอบแทนแบบตายตัว ซึ่งทำให้ค่าตอบแทนไม่สามารถปรับขึ้นตามสภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น ในช่วง 20 ปีแรกของสัญญา อสมท จึงสูญเสียประโยชน์จากการที่ค่าตอบแทนสามารถปรับขึ้นได้

ประเด็นที่ 3 – คงไว้ซึ่งความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายฝ่ายละกึ่งหนึ่ง

ตามเงื่อนไขเดิม อสมท ไม่ต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เสาอากาศและเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับบีอีซี เนื่องจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นความรับผิดชอบของบีอีซี แต่การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ได้กำหนดให้ อสมท และ บีอีซี ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายฝ่ายละกึ่งหนึ่งสำหรับเสาอากาศและเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 นี้นอกจากจะทำให้ อสมท มีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนน้อยลงแล้ว ยังทำให้ อสมท ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย

ประเด็นที่ 4 – การต่ออายุสัญญาเป็นไปโดยอัติโนมัติ

การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 กำหนดว่า เมื่อสัญญาหมดอายุลงในปี 2553 และบีอีซี ไม่ได้ทำผิดสัญญา บีอีซี จะได้รับการขยายอายุสัญญาต่อไปโดยอัติโนมัติอีก 10 ปี ทั้งที่เงื่อนไขเดิมกำหนดเพียงว่า บีอีซี มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาเป็นรายแรกหากเป็นไปตามเงื่อนไข 5 ข้อ (ประกอบด้วย 1. อสมท ยังมีนโยบายที่จะให้เอกชนร่วมดำเนินการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อไป, 2.การดำเนินการของบีอีซีตามสัญญาที่ผ่านมาเป็นไปโดยเรียบร้อย, 3.อสมท จะพิจารณาให้สิทธิแก่บีอีซีเป็นรายแรก โดยบีอีซีจะต้องแจ้งความประสงค์พร้อมด้วยข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรมายัง อสมท ก่อนครบกำหนดสัญญาไม่น้อยกว่า 2 ปี, 4.ค่าตอบแทนทั้งสิ้นสำหรับการขยายระยะเวลาต้องไม่น้อยกว่า 2,002 ล้านบาท และ 5. คู่สัญญาได้ทำความตกลงเรื่องการปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และเงื่อนไขอื่นๆ ที่จำเป็น )

การแก้ไขสัญญาข้อนี้ทำให้ผลประโยชน์ที่ อสมท จะได้รับเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก เพราะเงื่อนไขในสัญญานอกจากจะกำหนดให้ อสมท ต้องต่อสัญญาให้บีอีซีโดยอัติโนมัติแล้ว ยังกำหนดให้ อสมท ได้รับค่าตอบแทนแบบตายตัวตลอดระยะเวลา 10 ปี จำนวน 2,002 ล้านบาท (เท่ากับค่าตอบแทนขั้นต่ำตามการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 2 ) ซึ่งเมื่อคำนึงถึงมูลค่าของเงินตามเวลา ที่อัตราคิดละร้อยละ 8 แล้ว มูลค่าปัจจุบันของค่าตอบแทนดังกล่าวจะมีจำนวนเพียง 297 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ ปีละ 30 ล้านบาท


เปิดผลศึกษาข่าวเศรษฐกิจ ช่อง3 ไม่คุ้มค่าฯ

Business - Manager Online
งานนี้ “ไม่คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3” เหมือนสโลแกนของช่อง 3 เสียแล้ว เมื่อ สสส. ชี้ชัด ข่าวเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านเพื่อความอยู่รอดจากวิกฤติเศรษฐกิจมีแค่หยิบมือ แถมการนำเสนอข่าวเศรษฐกิจรวมไม่รอบด้าน ซ้ำร้ายผู้ประกาศข่าววางตัวเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจเสียเอง สวนทางช่องอื่นที่มีเพียบ

วันนี้ (2 ก.ค.) โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แสดงผลการศึกษา 2 เรื่อง เกี่ยวกับฟรีทีวี คือ “การรายงานข่าวเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ของสื่อฟรีทีวี” และ “รายการโทรทัศน์เพื่อการอยู่รอด ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นหัวข้อในการศึกษา ที่เกี่ยวเนื่องกัน

นายธาม เชื้อสถาปนาศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือมีเดียมอนิเตอร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาในหัวข้อแรก คือ “การรายงานข่าวเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ของสื่อฟรีทีวี” ศึกษาประเด็นเนื้อหาข่าวเศรษฐกิจ บทบาทหน้าที่การเสนอข่าวเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติ ว่าเป็นไปในทิศทางอย่างไร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา พบว่า ฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง คือ 3,5,7,9,11 และทีวีไทย มีรายการข่าวเศรษฐกิจรวมกันทั้งสิ้น 11 รายการ รวมเวลาการออกอากาศเพียง 1,525 นาที ต่อสัปดาห์

โดยช่อง 11 มีรายการออกอากาศมากสุด ขณะที่ช่องทีวีไทย มีการนำเสนอรายการข่าวเศรษฐกิจได้รอบด้าน และเจาะลึกมากที่สุดรวมทั้งมีการนำเสนอที่แตกต่าง โดยเฉพาะนำเสนอในมุมมองของชาวบ้านและพ่อค้าแม่ค้าด้วย

ส่วนช่อง 3 นั้น เป็นช่องที่ไม่มีรายการข่าวเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เนื้อหาข่าวเศรษฐกิจมักจะแทรกอยู่ในรายการข่าวหลักของทางช่องในรายการหลัก ได้แก่ ข่าววันใหม่, เรื่องเล่าเช้านี้, เรื่องเล่า เสาร์ อาทิตย์, รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ และรายการเรื่องเด่นเย็นนี้

โดยรูปแบบการรายงานข่าวเศรษฐกิจของทางช่อง 3 นั้น ยังพบอีกด้วยว่า 1.ในแง่ความลึกของข่าว จะไม่ค่อยมีความลึกมากเท่าใด เนื่องจากเน้นรายงานข่าวลักษณะปรากฏการณ์ นำข้อมูลบางส่วนมาจากแหล่งข่าวหนังสือพิมพ์ และสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็น, รอยเตอร์ ใช้วิธีเล่า-คุยข่าว ลักษณะการรายงานจะดูเหมือนจะมีความลึก แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง พบว่า จริงๆแล้วไม่ลึก เมื่อเทียบกับช่องอื่น กล่าวคือ ไม่มีการสืบประเด็นเฉพาะไม่มีรายงานพิเศษด้านเศรษฐกิจ ในลักษณะที่เป็นข่าวพิเศษหรือสกู๊ป ลักษณะการรายงานข่าว เป็นการ “รายงาน” ว่าอะไรเกิดขึ้นที่ไหน-อย่างไร แต่ไม่มีรายงานพิเศษเจาะข้อมูล

2. ในแง่ความกว้างของข่าว พบว่า เน้นแหล่งข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ (เจ้าหน้าที่รัฐ-พนักงานเอกชน) เป็นหลัก มักมีความคิดเห็นด้านเดียว ส่วนความคิดจากนักวิชาการหรือบุคคลที่สาม หรือชาวบ้าน มักไม่ปรากฏนัก อีกทั้งยังเน้นแต่เศรษฐกิจส่วงกลาง-เมืองหลวง และเน้นดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจหลักในระดับมหภาค เน้นเสนอข่าวระดับนโยบายและมีผลกระทบในวงกว้าง

ไม่ค่อยมีในระดับจุลภาค เนื้อข่าวจะเน้นมากโดยเฉพาะเรื่องปัญหาแรงงาน ตกงาน ตลาดหุ้น ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ เป็นหลัก ที่ส่งผลต่อความคิดของประชาชนให้รู้สึกว่า เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติจริงๆ

ที่สำคัญ ข่าวเศรษฐกิจของช่อง3 มักใช้พิธีกรข่าวเศรษฐกิจหลัก คือ “บัญชา ชุมชัยเวทย์” ซึ่งถนัดข่าวต่างประเทศมากกว่า ขณะที่ “สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา” เน้นข่าวเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และอธิบายเนื้อหาข่าวได้ละเอียด แต่ขาดการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ส่วน “สู่ขวัญ บุญกุล” เน้นรายงานข่าวต่างประเทศ แต่ก็ขาดความกว้างของข้อมูล เพราะเน้นข้อมูลจากสำนักข่าวไม่กี่สำนัก และมีลักษณะที่อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศมากกว่า แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงข่าวต่างประเทศได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยได้อย่างไร

“โดยรวมแล้ว ช่อง3 เป็นช่องที่มีวิธีการนำเสนอข่าวเศรษฐกิจไม่รอบด้านและไม่เจาะลึก ผู้ประกาศข่าวหรือพิธีกร หรือรูปแบบการนำเสนอ จะเน้นสีสัน ตื่นเต้น เร้าใจ ข้อดี คือ ผู้ชมย่อยข่าวได้ง่าย แต่ยังขาดการเชื่อโยงของข่าว เน้นคุยข่าวเป็นหลัก อีกทั้งผู้ประกาศข่าวยังดูเหมือนจะทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจเสียเอง เพราะแทบจะไม่ให้เครดิต หรือบอกแหล่งที่มาของผู้วิเคราะห์เศรษฐกิจเหล่านั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องของเวลาในการนำเสนอก็เป็นได้”

นายธาม กล่าวต่อว่า สำหรับหัวข้อที่สองที่มีการศึกษาต่อเนื่องจากหัวข้อแรก คือ “รายการโทรทัศน์เพื่อการอยู่รอด ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ” ซึ่งสำรวจในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 252 ที่ผ่านมา พบอีกว่า ช่อง3 เป็นช่องเดียวที่ไม่มีรายการข่าวเศรษฐกิจโดยเฉพาะ

ทั้งนี้จากฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องพบว่า มีรายการที่มีเนื้อหาเพื่อการอยู่รอดในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งสิ้น 34 รายการ มากกว่าปีก่อนประมาณ 1.7 เท่า รวมเวลาการออกอากาศที่ 1,850 นาทีต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 32 ชั่วโมง 12 นาทีต่อสัปดาห์

โดยช่องทีวีไทย เป็นช่องที่มีรายการประเภทนี้มากสุด ถึง 9 รายการ คือ รายการงานเข้า, ชั่วโมงทำกิน, แผ่นดินไทย, ทั่วถิ่นดินไทย, ชาววิทย์ชิดชาวบ้าน, ชุมชนต้นแบบ, สหเฮ็ด, สถานีประชาชน และรายการทุกทิศทั่วไทย

ส่วนทางช่อง3 นั้น เป็นช่องลำดับสุดท้ายที่พบว่ามี 2 รายการ ที่มีบางส่วนของรายการนำเสนอเนื้อหารายการในรูปแบบของ การอยู่รอดในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ คือ รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง และรายการ 30 ยังแจ๋ว รวมเวลาการออกอากาศของทั้งสองรายการ คือ 80 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 20 นาทีต่อสัปดาห์ คิดเป็น 0.8%ของเวลาการออกอากาศทั้งหมด


Label Cloud