Business - Manager Online
ความถูกต้องโปร่งใสในการปฏิบัติตามสัญญาด้านการโอนทรัพย์สินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ อสมท
เงื่อนไขในสัญญาร่วมดำเนินกิจการระหว่าง อสมท กับ บีอีซี ระบุว่า “บรรดาสิ่งก่อสร้างทุกอย่างที่ได้ก่อสร้างขึ้นบนที่ดิน อีกทั้งทรัพย์สินทุกอย่างยกเว้นเงินทุนที่ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ได้กระทำขึ้นหรือได้จัดหามาสำหรับใช้สอยในการดำเนินงานตามสัญญานี้ทุกๆอย่าง ไม่ว่าได้มาตามสัญญาข้างต้นนี้ หรือได้กระทำขึ้นหรือได้จัดหามาในระหว่างการดำเนินการตามสัญญานี้ก็ดี ให้ตกเป็นทรัพย์สินของ อสมท ทั้งสิ้น นับแต่วันที่ได้กระทำขึ้นหรือได้จัดหา”
จากการตรวจสอบทรัพย์สินที่ อสมท รับโอนจากบีอีซี พบทรัพย์สินที่ควรกล่าวถึง 3 รายการ ดังนี้
(1) รายการที่ 1 สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF ออกอากาศรายการช่อง 3 ณ อาคารใบหยก 2 กรุงเทพมหานคร
(2) รายการที่ 2 สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF ช่อง 41 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
(3) รายการที่ 3 อุปกรณ์ดำเนินงานโทรทัศน์ให้เช่าที่ปรากฏในงบการเงินของบีอีซีแอสเซท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548
การตรวจสอบแต่ละรายการพบว่า รายการที่ 1 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 บีอีซีได้มีจดหมายถึงผู้อำนวยการ อสมท เรื่องขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF ออกอากาศรายการช่อง 3 ณ อาคารใบหยก 2 กรุงเทพมหานคร โดยได้ใช้เสาส่งโทรทัศน์ และระบบสายอากาศโทรทัศน์ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ของไอทีวี ณ อาคารใบหยก เนื่องจากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสัญญาณจากระบบ VHF Band 1 เป็น UHF
กรณีที่บีอีซีตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF โดยใช้เสาส่งโทรทัศน์และระบบสายอากาศส่งโทรทัศน์ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ของไอทีวีทำให้บีอีซีไม่สามารถโอนเสาส่งโทรทัศน์และระบบสายอากาศส่งโทรทัศน์ให้เป็นทรัพย์สินของ อสมท ได้เมื่อจัดหา เนื่องจากเสาส่งโทรทัศน์และระบบสายอากาศส่งโทรทัศน์ดังกล่าวไม่ได้เป็นทรัพย์สินของบีอีซี แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวอาจถือเป็นการผิดสัญญาที่ทำไว้กับ อสมท แม้ว่าบีอีซี จะได้ทำหนังสือแจ้งต่อผู้อำนวยการ อสมท แล้วก็ตาม
รายการที่ 2 สืบเนื่องจากการตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF บีอีซีได้ทำการสรางสถานีวิทยุโทรทัศน์ จากที่ตั้งเดิมคือ เขายายเที่ยง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ไปที่ตำบลบ้านใหม่อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา แต่ในการย้ายครั้งนี้ บีอีซี ได้ส่งสถานีส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF บนที่ดินเช่า ดังนั้น ในการโอนสถานีส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHFและทรัพย์สินอื่นที่จัดหาให้แก่ อสมท บีอีซีซึ่งไม่สามารถโอนที่ดิน 1 แปลง ( จำนวนเนื้อที่ดิน 749 ส่วนจากเนื้อที่ดินจำนวน 1,208 ส่วนตามโฉนดที่ดินเลขที่ 128086 หน้าสำรวจ 14606 ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ) ที่เป็นที่ตั้งของสถานีส่งให้ อสมท แม้ว่าในหนังสือลงวันที่ 3 สิงหาคม 2548 บีอีซี จะยืนยันว่า บรรดาทรัพย์สินต่างๆ ที่จัดหาเพื่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF ช่อง 41 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา บีอีซียินดียกให้เป็นทรัพย์สินของ อสมท ก็ตาม
จากการตรวจสอบเอกสารการเช่าที่ดินของ บีอีซี พบว่า บีอีซี ( โดยประสาร มาลีนนท์ และนางอัมพร มาลีนนท์ ) ได้ทำการเช่าที่ดินจากบริษัท บีอีซี แอสเซท จำกัด (“บีอีซีแอสเซท”) ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้อง ( โดยนางรัตนา มาลีนนท์และประชา มาลีนนท์ / ทั้งนี้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และบริษัท บีอีซี แอสเซท จำกัด เป็นบริษัทที่ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ99.99 และทั้ง 2 บริษัทนี้มีนายประสาร มาลีนนท์ นางอัมพร มาลีนนท์ นางรัตนา มาลีนนท์ นายประชุม มาลีนนท์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน )
โดยสัญญาเช่าระบุว่า บีอีซีแอสเซท จำกัด ( “บีอีซีแอสเซท”) ตกลงให้บีอีซีเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 15 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าเป็นรายเดือน (อัตราค่าเช่า ปีที่ 1 – 5 เดือนละ 10,000 บาท ปีที่ 6 - 10 เดือนละ 12,000 บาท ปีที่ 11 - 15 เดือนละ 14,000 บาท หลังจากหมดสัญญา บีอีซีต้องแสดงความประสงค์ในการต่ออายุสัญญาเช่าไม่น้อยกว่า 60 วัน
นอกจากนั้นสัญญาเช่ายังระบุเงื่อนไขในการรื้อถอนว่า ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเช่าหรือเมื่อผู้เช่าใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิแจ้งให้บีอีซีแอสเซททราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ว่าผู้เช่าประสงค์จะให้อาคาร สิ่งปลูกสร้าง และการปรับปรุงใดๆ บนที่ดินเช่า ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบีอีซีแอสเซท หรือประสงค์จะดำเนินการรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และการปรับปรุงใดๆ ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่า และส่งมอบที่ดินเช่าโดยไม่มีสิ่งสร้างหรืออาคารเหนือพื้นดินในสภาพที่เรียบร้อย
เงื่อนไขในสัญญาเช่าทำให้เห็นว่า การเช่าที่ดินระหว่างบีอีซีและบีอีซีแอสเซทนั้น ทำขึ้นเพื่อให้สิ้นสุดวันเดียวกับการที่ต่อสัญญาอัตโนมัติตามการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มีนาคม 2563 นั่นหมายความว่า เมื่อสัญญาระหว่าง อสมท กับ บีอีซี สิ้นสุดลง อสมท จะตกอยู่ในฐานะที่ต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตั้งอยู่บนที่ดินเช่าตามเงื่อนไขในสัญญาเช่า อสมท มีทางเลือกที่จะส่งมอบทรัพย์สินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบีอีซีแอสเซท หรือรื้อถอนทรัพย์สินนั้นออกจากที่ดินด้วยค่าใช้จ่ายของ อสมท เนื่องจาก อสมท เป็นเจ้าของทรัพย์สิน
การจัดหาที่ดินของบีอีซีโดยใช้วิธีเช่าจากบีอีซีแอสเซทแทนการจัดหาโดยวิธีซื้อเสร็จเด็ดขาด ทำให้บีอีซีไม่สามารถโอนที่ดินที่เช่าให้เป็นทรัพย์สินของ อสมท การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพยายามของบีอีซีที่จะหลีกเลี่ยงการส่งมอบที่ดินให้ อสมท ตามสัญญา พฤติกรรมดังกล่าวส่อให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องโปร่งใส
(โดยเฉพาะเมื่อที่ดินนั้นเป็นทรัพย์สินของบีอีซีแอสเซท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบีอีซีเวิลด์และบริหารงานโดยกลุ่มมาลีนนท์ผู้รับสัญญาจาก อสมท ) และอาจส่งผลให้ อสมทได้รับความเสียหายในอนาคตจากการที่จะต้องรื้อถอนทรัพย์สินออกที่ดินเช่า หรือจากการที่จะต้องสร้างสถานีส่งโทรทัศน์สีขึ้นใหม่ หรือจากการดำเนินงานที่อาจจะต้องหยุดชะงักลง
รายการที่ 3 จากการสอบทานงบการเงินของบีอีซีแอสเซทพบว่า ในงบดุลสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 บีอีซีแอสเซทแสดงอุปกรณ์ดำเนินงานโทรทัศน์ให้เช่าจำนวน 222 ล้านบาท (ก่อนหักค่าเสื่อมราคาสะสม ) จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทรัพย์สินดังกล่าวอาจจะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการโทรทัศน์สีช่อง 3 ซึ่งบีอีซีต้องโอนให้ อสมท เมื่อจัดซื้อหรือจัดหา แต่บีอีซีอาจหลีกเลี่ยงการโอนกรรมสิทธิ์ให้ อสมท โดยการเช่าทรัพย์สินนั้นจากบีอีซีแอสเซท ( เช่นเดียวกับกรณีที่ดินเช่าที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้)
อย่างไรก็ตามคณะทำงานไม่สามารถหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า อุปกรณ์ดำเนินงานโทรทัศน์ให้เช่าประกอบด้วยรายการใดบ้างรายการใดบ้าง เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลของบีอีซีแอสเซทได้