Business - Manager Online
ประเด็นที่ 5 – การบอกเลิกกรณีผิดสัญญาทำได้ยากขึ้น
การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญากรณีที่ บีอีซี ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ตกลงกัน โดยเพิ่มขั้นตอนที่ อสมท ต้องแจ้งให้ บีอีซี ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ บีอีซี ปฏิบัติตามข้อสัญญาในเวลาอันควร หากบีอีซีไม่ยอมปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา บีอีซีต้องแจ้งเหตุผลให้ อสมท ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อ อสมท พิจารณาคำชี้แจงแล้ว อสมท จึงสามารถแจ้งให้บีอีซีปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาอันควรครั้งหนึ่ง หากบีอีซียังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องในครั้งหลัง อสมท จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาลักษณะนี้เท่ากับเป็นการยื้อเวลาที่บีอีซีจะไม่ปฏิบัติตามสัญญาและลดทอนอำนาจของ อสมท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ
ประเด็นที่ 6 – การบอกเลิกกรณีไม่ผิดสัญญาไม่อยู่ในอำนาจ
ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 2 อสมท ในฐานะคู่สัญญาที่เป็นเจ้าของสัมปทานเคยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องรอให้บีอีซีผิดสัญญา แต่การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ได้ลดทอนอำนาจของ อสมท โดยกำหนดให้ อสมท มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเฉพาะเมื่อมติคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อความมั่นคงของรัฐ
ประเด็นที่ 7 – คงไว้ซึ่งการโอนทรัพย์สินเมื่อได้กระทำขึ้นหรือจัดหา
การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดให้ บรรดาสิ่งก่อสร้างทุกอย่างที่ได้ก่อสร้างขึ้นบนที่ดิน อีกทั้งทรัพย์สินทุกอย่างที่ได้กระทำขึ้นหรือจัดหามาไว้สำหรับใช้สอยในการดำเนินงานต้องตกเป็นทรัพย์สินของ อสมท ทั้งสิ้น นับจากวันที่ได้กระทำขึ้นหรือได้จัดหา
ประเด็นที่ 8 – เปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบ
การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 กำหนดให้การลดทุนเป็นกรณีเดียวที่บีอีซีต้องขอความเห็นชอบจาก อสมท ส่วนการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น การเพิ่มทุน และการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัท บีอีซีเพียงแต่ต้องแจ้งให้ อสมท ทราบภายใน 15 วัน หลังจากที่การดำเนินการแล้วเสร็จ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนี้มีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อ อสมท ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของ บีอีซี
ตัวอย่างเช่น การเพิ่มทุนของบีอีซีอาจเกี่ยวพันกับกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มคนที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง กับความรับผิดของ อสมท หรือการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในลักษณะของกลุ่มบริษัท (บริษัทใหญ่-บริษัทย่อย-บริษัทในเครือ) สามารถทำให้บีอีซีกระจายการดำเนินงานออกไปให้บริษัทในกลุ่มที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ อสมท และทำให้ อสมท
ไม่อาจควบคุมการดำเนินงานที่เคยเป็นของบีอีซีได้ นอกจากนั้น การจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในลักษณะของกลุ่มบริษัทยังทำให้รายได้รายการเดียวกันสามารถกระจายรายงานในงบการเงินของหลายบริษัท และทำให้การพิจารณาเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ อสมท ได้รับไม่โปร่งใสชัดเจน
ประเด็นที่ 9 – ไม่ยกเลิกอำนาจในการควบคุมการดำเนินกิจการ
การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ไม่ได้ยกเลิกอำนาจหน้าที่ของ ผู้อำนวยการ อสมท ที่จะควบคุมการดำเนินกิจการของบีอีซีตามสัญญาฉบับที่ 1 ซึ่งกำหนดให้ ผู้อำนวยการ อสมท หรือผู้แทนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสามารถควบคุมการดำเนินงานกิจการของบีอีซีให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี กฎ ข้อบังคับ และระเบียบต่างๆของทางราชการ ทั้งในด้านการจัดรายการ ด้านธุรกิจ และด้านเทคนิค ดังนั้น อสมท จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการควบคุมกิจการของบีอีซี (เว้นเป็นการลดทอนอำนาจตามที่กล่าวไว้ในประเด็นที่ 6 และ 8) นอกจากนั้นเงื่อนไขในสัญญายังกำหนดว่า บีอีซียินยอมจ่ายค่าตอบแทนตามที่จะตกลงกับ อสมท ให้แก่ผู้อำนวยการ อสมท หรือ ผู้แทนที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3