"อภิสิทธิ์"วิพากษ์การศึกษาไม่สนองศก.-สังคม คมชัดลึก
คมชัดลึก :นายกฯ วิพากษ์ระบบการศึกษาไทยไม่ตอบสนองศก.-สังคม ชี้ผลิตกำลังคนกลับว่างงาน ขณะที่สถานประกอบการต้องการกำลังคนมากขึ้น หวังสหกิจศึกษาพัฒนาบัณฑิตมีคุณภาพ พร้อมทำงาน พร้อมเชื่อมกลับเข้าไปสู่ระบบการศึกษา
(6มิ.ย.) ที่ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพ็คเมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)จัดงานวันสหกิจศึกษาครั้งที่ 1 พ.ศ.2552 โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงานว่า ขณะนี้กำลังจะมีการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เพราะหลายฝ่ายมองว่าการปฏิรูปฯ รอบที่ผ่านมายังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทบทวนแนวทางการแก้ไขปรัปปรุงระบบการศึกษาครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่าเรื่องการศึกษาและการสร้างคนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ
ซึ่งเรื่องสหกิจศึกษาถือเป็นวาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 โดยเฉพาะในส่วนของผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของระบบการศึกษา ซึ่งคงไม่ได้วัดเพียงว่าเด็กเรียนกี่ปี จบได้คะแนนเท่าใด หรือเรียนต่อในสัดส่วนเท่าใดเท่านั้น แต่จะต้องดูด้วยว่าท้ายที่สุดแล้วระบบการศึกษาได้เปิดทางให้เด็กได้ใช้ศักยภาพ และแสวงหาโอกาสในการประกอบอาชีพการงานเพื่อความก้าวหน้าได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงบทบาทในฐานะพลเมืองในสังคมที่ควรจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของส่วนรวมต่อไป
“จุดหนึ่งที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของการประเมินระบบการศึกษาไทยมาตลอดคือ ปัญหาการผลิตคนให้ตรงกับความต้องการทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งที่ผ่านมาเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นว่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพราะเรามีปัญหาความไม่สมดุล ซึ่งทุกปีจะได้ยินเสียงบ่นว่ามีบัณฑิตจำนวนมากที่จบการศึกษามาแล้วไม่สามารถหางานทำได้ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงเป็นข้อห่วงใยมากว่าบัณฑิตที่จบใหม่ จะเป็นกลุ่มคนสำคัญที่มีความเสี่ยงต่อการที่อยู่ในภาวะว่างงาน และทำให้เป็นสิ่งที่ซ้ำเติมทั้งภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ความเดือนร้อนของเด็กและครอบครัว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุนภาคเอกชน พบว่า อยากจะมาลงทุนแต่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร ทั้งนี้เรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะขณะนี้มีคนอยากทำงาน แต่หางานทำไม่ได้ ทั้งๆที่ มีความต้องการของตลาดแรงงานมาก ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยยังไม่ตอบสนอง หรือปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมได้
อย่างไรก็ตามคงไม่ตำหนิผู้บริหารการศึกษา เพราะต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาเป็นระบบที่ใหญ่ ไม่ว่าประเทศใดคงไม่มีความคล่องตัว หรือยืดหยุ่นที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เพราะการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งนี้ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ในยุคปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว ฉะนั้นความต้องการของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น หากไม่สามารถทำให้ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงนี้เชื่อมโยงและย้อนกลับเข้าไปสู่ระบบการศึกษา ปัญหาความไม่สมดุลที่สะท้อนออกมาจากปัญหาในเรื่องการว่างงาน พร้อมๆ กับการขาดแคลนแรงงาน ก็จะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อขีด ความสามารถของประเทศในแง่ของการลงทุน และจะกระทบต่อโอกาสของประชาชนคนไทยด้วย