"ฮิลลารี่"เยือนไทยถก"ไฟใต้-การเมือง" คมชัดลึก
คมชัดลึก :รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯจะเยือนไทยในเดือนหน้า ท่ามกลางความวิตกเรื่องปัญหาภาคใต้และความปั่นป่วนทางการเมืองของไทย
(11มิ.ย.) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันพุธโดยอ้างถ้อยแถลงของนายเคิร์ท แคมพ์เบลล์ ผู้กล่าวในระหว่างการพิจารณารับรองเขา เป็นผู้ช่วยรัฐมน ตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ว่า นางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีแผนจะเดินทางเยือนไทยในเดือนกรกฎาคม โดยเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันของสหรัฐฯที่จะส่งเสริมความมั่นคงในไทย ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรมายาวนาน เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของแผนการเยือน แต่มีรายงานข่าวที่อินเดีย คาดว่าเธอจะไปเยือนที่นั่นในเดือนหน้าเช่นเดียวกันด้วยแคมพ์เบลล์กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายอย่างชัดเจนมาก ( very real challenges) เมื่อพิจารณาจากเหตุโจมตีมัสยิดแห่งหนึ่งในภาคใต้ของไทยเมื่อวันจันทร์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คนและเขายังคาดการณ์ด้วยว่าจะมีความปั่นป่วนทางการเมืองเพิ่มขึ้นในไทย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คน นับจากมีการก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
แคมพ์เบลผู้เป็นนักวิชาการและเป็นอดีตนายทหารเรือกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯกำลังพยายามสนับสนุนให้มีการเจรจาระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆในไทย เพื่อส่งเสริมความมั่นคง แต่ก็เชื่อว่าสมควรทำเช่นนั้นแบบเป็นส่วนตัว เพราะยิ่งเปิดเผยต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้นเท่าไร อาจจะยิ่งทำให้เกิดผลที่ไม่คาดฝัน อาจทำให้สหรัฐฯตกอยู่ในสถานการณ์ที่ว่า กำลังส่งเสริมสิ่งที่อาจเป็นผลเสียอย่างมาก ทั้งในหมู่ชนชั้นนำในสังคมไทย และที่อื่นๆ (To be more open and more public right now could very well backfire. We might find ourselves in a situation where you're promoting things that could play very badly, not just among the elite in Thai society but elsewhere)
เขากล่าวด้วยว่า สหรัฐฯมีความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับไทยและปรารถนาจะกระชับความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่าไทยเป็นชาติพันธมิตรเก่าแก่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย และเป็นที่ทราบกันดี เรื่องที่ไทยในสมัยใช้ชื่อประเทศว่าสยาม ได้เคยเสนอจะช่วยจัดส่งช้างไปช่วยอดีตประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ทำสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ช่วงระหว่างปี 1861-1865 ไทยยังสนับสนุนสหรัฐฯในหลายกรณีความขัดแย้งหลังจากนั้น รวมทั้งในสงครามเวียดนาม และสงครามอิรักครั้งที่สองเพื่อโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็นด้วย