ฐานเศรษฐกิจ
รัฐบาล "อภิสิทธิ์" สั่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอต่อ แย้มข้อมูลล่าสุดมี 3 กลุ่มประเทศใหม่อยู่ในโผ ทั้งฮ่องกง กลุ่มเมอร์โคซู แอนเดียน ขณะที่เตรียมเจรจาทวิภาคีอียู ส่วนเอฟทีเอกับสหรัฐฯ เชื่อเลื่อนอีกนาน ทีทีอาร์เร่งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ หวังผลได้รับแรงหนุนเจรจาเอฟทีเอต่อ
นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี โดยได้รับมอบหมายจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ดูแลภารกิจด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศทั้งหมด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงนโยบายการจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ในระดับทวิภาคีของรัฐบาลปัจจุบันว่า จะยังให้ความสำคัญในการเปิดเจรจากับประเทศ/กลุ่มประเทศใหม่ๆ ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแต้มต่อด้านภาษี ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างภาคเอกชนของไทยกับภาคเอกชนของประเทศคู่เจรจาเพื่อขยายการค้า การลงทุนระหว่างกัน
ล่าสุดมี 3 กลุ่มประเทศที่อยู่ในโผที่จะเปิดเจรจา โดยกลุ่มใหม่ประกอบด้วย ฮ่องกง ซึ่งได้แสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการจะเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับไทยในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้น กลุ่มเมอร์โคซู (MERCOSUR) ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศได้แก่บราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซุเอลา กลุ่มแอนเดียน(ANDEAN) ประกอบด้วยโคลัมเบีย เปรู โบลิเวีย และเอกวาดอร์ ซึ่งสองกลุ่มหลังนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด
ขณะเดียวกันมีแผนที่จะเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู)ในระดับทวิภาคี ภายหลังการเจรจาในระดับภูมิภาคระหว่างอาเซียนซึ่งมีไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกกับอียูมีความคืบหน้าไม่มากซึ่งขณะนี้อียูมีแผนจะเปิดเจรจากับสมาชิกอาเซียนเป็นรายประเทศ ในส่วนของไทยได้มีการหารือนอกรอบกับอียูแล้ว ซึ่งต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไป
ส่วนการเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้หยุดชะงักลงมาตั้งแต่ปี 2549 (เนื่องจากการมีการยุบสภา และมีการทำรัฐประหาร สหรัฐฯ ประกาศไม่เจรจาเอฟทีเอกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) แต่ผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐฯ ที่กำลังเกิดขึ้นและยังไม่สิ้นสุดในเวลานี้ รัฐบาลสหรัฐฯส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะยังไม่ทำเอฟทีเอเพิ่มกับประเทศใด แต่จะมุ่งแก้ไขปัญหาภายในก่อน"มีหลายประเทศใหม่ที่แสดงเจตนารมณ์เข้ามา รวมถึงอียูซึ่งเคยเจรจากันแล้วในระดับภูมิภาคต่อภูมิภาค แต่เวลานี้เขาเปลี่ยนท่าทีอยากเจรจาทวิภาคีรายประเทศ ซึ่งเราจะเร่งศึกษาในรายละเอียดเพื่อเตรียมการเจรจาต่อไป ส่วนกับสหรัฐฯเขายังไม่พร้อมคงอีกนาน อย่างไรก็ดีสิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุดในเวลานี้คือทุกประเทศซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือดับบลิวทีโอหันหน้าเข้าสู่การเจรจารอบโดฮาโดยเร็วแต่คงไม่ง่าย"
นายเกียรติ กล่าวว่านอกการเปิดเจรจาเอฟทีกับประเทศ/กลุ่มประเทศใหม่แล้วสิ่งที่ทีทีอาร์จะเร่งทำคือการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้ว(จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย) อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเร่งศึกษาว่าที่ผ่านมามีกลุ่มใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ เพื่อที่จะได้จัดทำโครงการ และจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากที่ผ่านมารัฐบาลมีกองทุนเอฟทีเอของกระทรวงพาณิชย์ และกองทุนปรับโครงสร้างภาคเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ผู้ที่ได้รับกระทบต้องเขียนโครงการเพื่อชี้แจงผลกระทบ รวมถึงเสนอแผนงานเพื่อขอเงินกองทุนเพื่อช่วยเยียวยาทำให้มีความล่าช้าไม่ทันกาล"กองทุนเดิมมีอยู่แล้วแต่อยู่กระจัดกระจาย ซึ่งเป็นไปในลักษณะใครอยากได้รับก็ขอมา ปัญหาคือคนที่ได้รับผลกระทบเขาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะของบได้ ในที่สุดเมื่อไม่สามารถของบได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม งบกองทุนก็เหลือและก็ต้องคืนรัฐบาล แต่ที่เราจะทำใหม่คือ จะเป็นผู้นำในการศึกษาเลยว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบแต่ละคนต้องแก้อย่างไร ด้วยโครงการอะไร ด้วยเงินเท่าไหร่ ซึ่งหากการเยียวยาเป็นที่พอใจเราก็จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศใหม่ๆต่อไป"