Matichon Online
โดย ไทยทน
วันที่ 17 ก.ย. 2552 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้คัดค้านการอายัดทรัพย์สินคดีนี้ ได้เบิกความหลายประเด็น ซึ่งยังดูจะมีข้อความที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นความจริงหลายประการ
นัยของเรื่องนี้ คือ การที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นชินฯให้นาย พานทองแท้ และนำมาขายต่อให้ น.ส. พิณทองทา รวมถึงหุ้นที่ขายให้ นาย บรรณพจน์ ดามาพงศ์ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แอมเพิลริช และ วินมาร์คนั้น เป็นเพียงการจัดโครงสร้างการถือหุ้นแบบตัวแทนถือหุ้น (โนมินี) โดยมีมูลเหตุจูงใจ คือ พ.ต.ท. ทักษิณ และภรรยา ไม่สามารถถือหุ้นที่มีกิจการสัมปทานภาครัฐ ด้วยรัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจ ใช้อำนาจในการเอื้อธุรกิจส่วนตัว เช่น การเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน ลดส่วนแบ่งรายได้ภาครัฐของโทรศัพท์มือถือระบบพรีเพดจาก 25-30% เป็น 20% ระบบภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมเพื่อตั้งกำแพงคุ้มครองผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐเป็นฝ่ายรับภาระฝ่ายเดียว ฯลฯ
ประเด็นการชี้แจงเรื่องราวในครอบครัวแต่ละครั้งนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่า เป็น “เรื่องเล่า” ที่รับฟังได้เพียงใด โดยมีประเด็นที่น่าคิดว่า เชื่อถือได้จริงเพียงใด หลายประการดังนี้
1.น.ส. พิณทองทา ได้รับเงิน 370 ล้านบาท ฉลองครอบรอบวันเกิด 20 ปีพอดี คำถามคือ
ทำไม 370 ล้านบาท ด้วยใกล้เคียงกับยอดซื้อหุ้นจากพี่ชายจำนวน 367 ล้านบาทพอดี ? ไม่ใช่ 300 ล้านบาท ไม่ใช่ 400 ล้านบาท ซึ่งเมื่อซื้อแล้ว พิณทองทาจึงถือหุ้น 367,000,000 หุ้น และ พานทองแท้ถือหุ้น 366,950,220 ล้านหุ้น คือแบ่งหุ้นกันได้ 50.003% : 49.997% พอดีๆ
ทำไมมีรางวัลพิเศษ 370 ล้านบาท เมื่อครบ 20 ปี หากไม่ใช่เพื่อการปรับโครงสร้างการถือหุ้นแทน ต้องถามว่า เมื่อพานทองแท้อายุครบ 20 ปี หรือ แพทองธารอายุครบ 20 ปี ได้รับของขวัญวันเกิดพอๆกันหรือไม่ ? หรือหากไม่ใช่ ก็คงเป็นการปรับโครงสร้างการถือหุ้นแทนเท่านั้นใช่หรือไม่ ?
หากบอกว่าเป็นความสุจริตใจ แบ่งหุ้นเท่าๆกันในฐานะพี่น้อง ทำไมพานทองแท้ไม่ขายหุ้นให้น้องแพทองธารด้วย ? หากจะอธิบายว่า “ไม่ได้ เพราะจะทำให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะต้องนับหุ้นที่เป็นของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย” ก็ต้องตั้งคำถามต่อว่า ถ้าไม่ใช่การถือแทนกัน และเป็นความจริงใจของพี่น้องที่ต้องการแบ่งเท่าๆกัน ทำไม แม้เมื่อขายไปแล้ว ไม่แบ่งให้น้องด้วย ด้วยหากเป็นเงิน โอนแบ่งให้น้องก็ไม่มีปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งของบิดาแต่อย่างใด หรือเพราะเมื่อโอนไปที่ต่างๆ เช่น ประไหมสุหรี ซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อเหมืองเพชร แล้ว ก็บรรลุภารกิจการถือหุ้นแทนบิดาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว หลังจากนั้นไม่มีภารกิจอีก จึงไม่ต้องแบ่งให้น้อง
แม้ยังฟังดูดีกว่า แต่ก็ไม่ต่างกับ กรณีบรรณพจน์ ที่หญิงอ้อ ยกหุ้นที่เคยถือในชื่อ น.ส. ดวงตา วงศ์ภักดี นาย บรรณพจน์ ให้ในลักษณะอุปการะ ให้โดยเสน่หาตามขนบธรรมเนียมประเพณีในโอกาสที่นายบรรณพจน์แต่งงาน และมีบุตร ซึ่งไม่แนบเนียน เพราะช่วงเวลาไม่สอดคล้องกับคำอ้าง กล่าวคือ นายบรรณพจน์แต่งงานเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2539 และมีบุตรเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2539 แต่คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากนายบรรณพจน์แต่งงานแล้วเกือบ 2 ปี และหลังจากนายบรรณพจน์มีบุตรแล้ว 11 เดือน 3 วัน ?!?!
2.น.ส.พิณทองทา ยังเบิกความถึง ภาษีที่ถูก คตส.ตรวจสอบและกรรมสรรพากรเรียกเก็บจากการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ให้บริษัท แอมเพิลริช ว่า กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากพยานและพี่ชายคนละกว่า 5,000 ล้านบาท โดยเรียกเก็บในฐานะผู้ถือหุ้นแต่ในคดีที่ คตส.อายัดทรัพย์ไว้ กลับระบุว่า ทรัพย์ที่ถูกอายัดเพราะพยานและพี่ชายไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง ซึ่งพยานเห็นว่าเรื่องดังกล่าวขัดแย้งกันและไม่น่าจะถูกต้อง
ประเด็นนี้ก็คงไม่ใช่ สมมติพ่อค้ายาเสพติด ต้องการฟอกเงิน โอนสมบัติไปให้ โนมินีถือหุ้นแทน ในการโอนนั้น ก็ย่อมต้องมีภาระภาษีอยู่แล้ว เพราะสรรพากรเก็บภาษีทุกคน ก็ไม่ต้องแยกแยะว่า รายการนั้นๆเป็นรายการจริงหรือปลอม และก็ไม่เว้นภาษีสำหรับการโอนที่ปลอม แต่แม้เก็บภาษีตามข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เมื่อจับได้ว่า การโอนนั้น เป็นการซ่อนสมบัติ หรือการฟอกเงิน ก็ยังไม่สามารถหลบความผิดนั้นได้อยู่ดี และความผิดต้นตอที่ทำให้เกิดที่มาของเงินสำหรับฟอกนั้น ก็ดิ้นไม่หลุดด้วยเช่นกัน
เมื่อมีผู้ทำความผิดหลายประการ จะกล่าวหาว่าขัดแย้งได้อย่างไร เช่น บางคนมักเทียบว่า ปรับทั้งจอดรถที่ขาวแดง และฝ่าไฟแดงได้อย่างไร ? เผอิญคนขับทำทั้ง 2 อย่างก็คงต้องถูกทำโทษทั้ง 2 อย่างกรณีนี้ เมื่อเป็นการโอนหุ้นให้แอมเพิลริชเพื่อให้ถือแทน ย่อมไม่สามารถเลี่ยงความผิด “ซุกหุ้น” ของอดีตนายกรัฐมนตรี และต่อมา หลังจากที่มีการโอนผ่านแอมเพิลริชแล้ว กลับให้บริษัทที่กรรมการทั้งสองซื้อหุ้นออกจากบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ก็ย่อมถูกประเมินภาษีตามมาตรฐานสรรพากรด้วย
3.น.ส.พิณทองทา ยังได้เบิกความถึงทรัพย์สินหลังจากการขายหุ้นว่า ได้นำเงินไปลงทุนในสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี ในประเทศอังกฤษ โดยพยานและพี่ชายได้เป็นกรรมการ ขณะที่บิดาถือหุ้นอยู่ในสโมสรจำนวน 200,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นเงินที่ขอมาจากมารดา ต่อมาพยาน พี่ชาย และบิดา ได้ขายหุ้นสโมสรฟุตบอล หลังจากนั้น ได้นำเงินไปลงทุนในเหมืองเพชรประเทศแอฟริกา โดยให้บิดาซึ่งอยู่ต่างประเทศดูแลบริหาร
นับว่า มีความชัดเจนดีว่า ทรัพย์สินที่ได้จากการขายนั้น ได้ใช้ไปลงทุนในสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรเกิดคือ บิดาดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่สามารถถือหุ้นที่มีกิจการสัมปทานได้ โอนให้บุตรถือหุ้นแทนผ่านการ “ซื้อขาย” กันในราคาไม่ให้มีภาษี มีการแก้ไขเงื่อนไขสัมปทาน ลดประโยชน์ภาครัฐ เพิ่มประโยชน์กิจการส่วนตัว เมื่อบิดาพ้นจากตำแหน่ง บุตรขายหุ้นที่ได้ประโยชน์เพิ่มออกไป ก็นำเงินมาคืนให้บิดาใช้อีกครั้ง
ความจึงน่าพิจารณาว่า เป็นการขายที่แท้จริง หรือมีการโอนไปให้บุตรถือแทนกันแน่ จึงน่าถามว่า ใครเป็นผู้ตัดสินใจซื้อและขาย? ใครเป็นผู้เจรจา? บุตรรู้จักผู้ขายหรือผู้ซื้อหรือไม่?
ตามข่าวที่เปิดเผยทั่วไปนั้น เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกว่า เจ้าของที่แท้จริง คือ พ.ต.ท. ทักษิณ เช่นข่าวตามลิงค์ http://www.arabianbusiness.com/539714-catch-me-if-you-can?start=1 พ.ต.ท. ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่า“I thank them ( England ) because I went there, I bought a football club then sold it and made some money in the process,” he (Thaksin) says.
แปลว่า “ผมขอบคุณประเทศอังกฤษ เพราะ ‘ผม’ ได้ไปที่นั่น ซื้อสโมสรฟุตบอล แล้วขายไป และทำกำไรได้” ก็ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ซื้อที่แท้จริง
พ.ต.ท. ทักษิณ ยังได้ให้สัมภาษณ์ ช่วงกันยายน 2551 ว่า“When I bought Manchester City the club had been languishing in the bottom half of the Premier League and had an uncertain future.”
คือ ตอน ‘ผม’ ซื้อแมนฯซิตี้ สโมสรนี้ยังอยู่ครึ่งล่างของตาราง และมีอนาคตที่ไม่แน่นอน ไม่มีอะไรแสดงว่าเป็นของลูกเลย มีแต่ พ.ต.ท. ทักษิณที่แสดงตัวเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
4. น.ส.พิณทองทา ยังเบิกความถึงความจำเป็นที่จะต้องซื้อหุ้นบริษัทคืนจากบริษัท วินมาร์ค ที่มีนายมามุด มหาเศรษฐีชาวตะวันออกกลาง เพื่อนนักธุรกิจของบิดา ว่า เพราะก่อนหน้านั้น บิดาเคยขายหุ้นให้ บ.วินมาร์ค ปี 2542 เนื่องจากขณะจะนำบริษัทในเครือชิน 5 แห่ง เข้าตลาดหลักทรัพย์ และให้คำมั่นไว้ว่าจะรับซื้อคืน หากไม่ได้นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ครบตามที่ระบุไว้ ดังนั้น เมื่อพยานมีเงินปันผลจากบริษัท จึงนำเงินซื้อหุ้นที่เคยเป็นธุรกิจของครอบครัวกลับมา ระหว่างปี 2547-2550 มูลค่า 485 ล้านบาทเศษ และที่ นายมามุด ทำหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับบริษัทต่อศาลก็เป็นเรื่องจะยืนยันความเป็นเจ้าของ
น่าสงสารที่ น.ส. พิณทองทา ต้องให้การเท็จเพื่อพ่อแม่ เพราะในเมื่อจะกำหนดว่า จะนำบริษัทในเครือชิน 5 แห่ง เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างไร ในเมื่อเป็นกิจการของผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน ทำธุรกิจคล้ายๆกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ กลต. ย่อมไม่อนุญาตเช่นนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่สะท้อนว่า น.ส. พิณทองทาให้การด้วยความไร้เดียงสา และอยากจะกตัญญู จึงท่องบทมาชี้แจงหรือไม่ ? มีความเข้าใจในเรื่องธุรกิจและการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่ ? หรือเป็นเพียงโนมินีให้พ่อ ?
การตัดสินใจเหล่านี้ พิณทองทาได้เจรจากับใครในวินมาร์ค การซื้อหุ้น 5 บริษัทไม่ต้องเจรจาเลยหรือ ทั้งๆที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย กลับอ้างว่าเป็นการใช้เงินที่อ้างว่า “ตนเป็นเจ้าของจากเงินปันผล หรือการขายหุ้น” ได้อย่างไม่ได้เป็นตัวแทนจริงๆ เพราะทั้ง 5 บริษัท มีมูลค่าทางบัญชีแตกต่างกันไป กำไร/ขาดทุนแตกต่างกันไป
ผู้รักความยุติธรรมต้องขอบคุณพิณทองทาให้การว่า วินมาร์คมีเงื่อนไขให้ทุกบริษัทต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่เธอทราบหรือไม่ว่า ใน 6 บริษัทนั้น มีเพียงบริษัทเดียวที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ คือ โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ (เปลี่ยนชื่อเป็น SC) วินมาร์คถือทั้ง 6 บริษัทมาตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2543 แต่กลับต้องขายหุ้น SC ออกไปในวันที่ 11 สิงหาคม 2546 เพียง 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน ก.ล.ต. 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน กลต. ให้กองทุน VAF และกองทุน VAF ถือหุ้นเพียง 3 สัปดาห์ ก็โอนออกไปขายให้กองทุน OGF และ ODF แล้ว ในวันที่ 1 กันยายน 2546 โดยกองทุนทั้งสามคือ VAF, OGF และ ODF มีที่อยู่เดียวกัน คือ เลขที่ L1, LOT7, BLK F, SAGUKING COMMERCIAL BLDG. LALAN PATAU-PATAU, 8700 LABUAN FT, MALYSIA แล้วคำอ้างว่า “วินมาร์คมีเงื่อนไขให้ทุกบริษัทต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” จะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร
นาย มามุด มหาเศรษฐีชาวตะวันออกกลาง หากเป็นเจ้าของจริง SC และครอบครัวชินวัตรก็น่าจะได้เปิดเผยมานานแล้ว เพราะไม่เห็นว่ามีเหตุจูงใจใดๆต้องปกปิดเลย และน่าจะเชิญมาสัมภาษณ์หน่อยว่า “ในการซื้อ 6 บริษัทนี้ เขารู้จักหรือไม่ ? แต่ละบริษัททำไมตีราคาเท่ากันที่พาร์ ทั้งๆที่มูลค่าไม่เท่ากัน กำไร/ขาดทุนไม่เท่ากัน ? ทำไมขายไปให้ VAF 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟลิ่ง ? และ แปลงร่างเป็น OGF และ ODF ทั้งๆที่อยู่ที่อยู่เดียวกัน หากเป็นการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น SC และนางบุษบา ดามาพงศ์น่าจะมีโทษฐานปกปิดความจริง และแสดงข้อความอันเป็นเท็จในหนังสือชี้ชวนอย่างจงใจ เพราะมีความร่วมมือในการทำทะเบียนถี่ๆกันหลายฉบับ คือ
ก) 13 สิงหาคม 2546 ซึ่ง Win Mark โอนหุ้นให้ VAF
ข) 28 สิงหาคม 2546 ซึ่ง VAF ยังเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 สิงหาคม
ค) 29 สิงหาคม 2546 ซึ่ง VAF ยังเป็นผู้ถือหุ้น ในรูปแบบทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทมหาชน
ง) 1 กันยายน 2546 (วันจันทร์ ซึ่งเป็นวันทำการถัดจากวันที่ 29 สิงหาคม 2546) ซึ่ง VAF โอนหุ้นให้ OGF และ ODF ซึ่งมีที่อยู่เดียวกันกับ VAF
5.ทั้งนี้ น.ส.พิณทองทา ยังเบิกความตอบคำถามศาลด้วยว่า ในการดำเนินธุรกิจของครอบครัว จะมี นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของ คุณหญิงพจมาน มารดา ดูแลในชั้นปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการเอกสาร และทรัพย์สินต่างๆ ภายใต้ความเห็นชอบของบิดาและมารดาซึ่งบิดาและมารดาดูแลนโยบายทั่วๆ ไป
ซึ่งน่าจะได้รับโทษ ครึ่งเดียวฐานสารภาพตรงๆ ว่ากระทำไปภายใต้ความเห็นชอบของบิดาและมารดา