Find Other Sides of Thai Politic. Update you on the political turmoil in Thailand.

อ่าน ทวิตเตอร์

Upcoming

Monday, June 8, 2009

ฟ้องกราวรูด 21 บิ๊ก บสท. ลูกหนี้เล่น กม.อาญายัดคุก

Manager Online
ASTVผู้จัดการรายวัน - แฉบิ๊ก บสท.กลั่นแกล้งฟ้องล้มละลาย ลูกหนี้สวมหัวใจสิงห์เดินหน้าชน ฟ้องกลับหลังถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ศาลยก งานนี้บอร์ดระดับคนดังของประเทศ 21 ราย โดนเรียบ ทั้ง "เชาว์ สายเชื้อ-ธาริษา วัฒนเกส-ชฎา วัฒนศิริธรรม-ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ลูกหนี้มั่นใจเอาเข้าคุกได้เหตุขัดกฎหมายอาญามาตรา 188 ชัด "อมใบหุ้น" โทษจำคุก 5 ปี ชี้ บสท.สองมาตรฐานเทียบกรณียึด "ไทยพับลิคพอร์ต" ประเคนตระกูลพานิชชีวะ จับตาศาลไต่สวนนัดแรก 27 ก.ค.นี้

บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท. (Thai Asset Management Corporation – TAMC) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เมื่อปี 2544 ยุค นช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผลให้ บสท.ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จแก้ปัญหาหนี้เสียและฟื้นฟูกิจการอย่างเป็นธรรมเพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้น แต่ในทางปฏิบัติหลายครั้งกลับพบว่า บสท.ใช้อำนาจอย่างมีวาระซ่อนเร้นในการปรับโครงสร้างกิจการลูกหนี้ โดยเฉพาะมาตรฐานที่แตกต่างกัน หากเป็นลูกหนี้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจจะได้รับความช่วยเหลือทั้งลดหนี้และยืดเวลาชำระหนี้ แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามจะถ่วงเวลาให้มูลหนี้เพิ่มขึ้น หลายกรณีมักจบลงด้วยการฟ้องล้มละลาย

ล่าสุด นายจิระ รัตนะรัต ประธาน The Siam Chemicals Public co., LTD (บริษัท สยามเฆมี จำกัด มหาชน) และผู้ก่อตั้งบริษัท ไทยพับลิคพอร์ต (หรือเดิมคือ บริษัท สีชังทองเทอร์มินัล จำกัด ประกอบกิจการท่าเรือ คลังน้ำมัน) เปิดเผยว่า ตนเป็นลูกหนี้ผู้เสียหายจากการใช้อำนาจมิชอบของ บสท. ถูกฟ้องล้มละลายเหมือนกับลูกหนี้อีกหลายราย แต่ได้ต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้อง การกระทำของ บสท.ในครั้งนี้ควรจะถูกเปิดเผยให้สังคมรับรู้ เพื่อเป็นบทเรียนให้กับผู้บริหารและคณะกรรมการ (บอร์ด) บสท. และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง รวมทั้งลูกหนี้ที่เคยถูก บสท.กลั่นแกล้ง

นายจิระเล่าถึงเบื้องหลังก่อนถูกฟ้องล้มละลายแต่ศาลยกฟ้องว่า ตนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ต่อมาธุรกิจประสบปัญหา

มีภาระหนี้สูงถึง 6,000 ล้านบาท เจ้าหนี้ยึดกิจการ

หนี้ถูกโอนเข้า บสท. เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้าง

มีการลดมูลค่าหุ้นของผู้ถือหุ้นลง ปรับลดหนี้หรือแฮร์คัตจาก 6,000 ล้านบาท เหลือ 600 ล้านบาท

โดยจะต้องมีการเพิ่มทุน 360 ล้านบาท

ในขั้นตอนการเปิดประมูลมีความไม่ชอบมาพากล เนื่องจากผู้ถือหุ้นอีกรายคือนายสมบัติ พานิชชีวะ ชนะการประมูล ทั้งๆ ที่ตนก็ได้ยื่นประมูลโดยเสนอราคาที่สูงกว่า แต่ บสท.อ้างว่าขาดคุณสมบัติ จึงไม่ผ่านตั้งแต่คำขอยื่นประมูล

"นายสมบัติเสนอ 600 ล้านบาท ผมเสนอ 800 ล้านบาท ที่สำคัญผมมีเงินและพร้อมจะวางเงินสด ส่วนนายสมบัติไม่มีการวางเงิน แต่อ้างว่ามีเงินอยู่ในตู้เซฟที่ออฟฟิศ 360 ล้านบาท ผมขำนะ บ้าหรือเปล่า ตู้เซฟที่ไหนเก็บเงินเป็นร้อยๆ ล้าน คุณรู้มั้ยต้องใช้ที่กว้างมากๆ ในการเก็บเงินสด 360 ล้าน เรื่องนี้เกิดเมื่อปี 2546-2547 ตอนนี้เงิน 360 ล้าน ไม่รู้จ่ายครบหรือยัง บางทีอาจจะโยงกับเรื่องที่นายสมบัติผลักดันดอนเมืองโทลล์เวย์ (บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ) เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะหากเข้าไปได้แล้วเงินที่ระดมทุนได้อาจจะมาชำระให้แก่ บสท." นายจิระอธิบายและว่า ตนเคยถือหุ้นใหญ่สุดในบริษัท ไทยพับลิคพอร์ต จำนวน 70% เมื่อถูกลดทุนจึงเหลือหุ้น 35% และปัจจุบันเหลือ 0.5% ส่วนนายสมบัติจากผู้ถือหุ้นไม่ถึง 10% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไทยพับลิคพอร์ต

***แฉ 2 มาตรฐานฆ่าศัตรู-อุ้มพวกพ้อง

นายจิระเชื่อว่า มีการวางแผนปล้นและยึดกิจการ ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการจัดตั้ง บสท. เห็นได้จากมีการวางแผนเป็นขบวนการโดยมีนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลศ กรรมการผู้จัดการ บสท. ในขณะนั้นให้ความร่วมมือกับนายสมบัติ และเมื่อบริษัทฯ ถูกยึดเป็นของนายสมบัติ ตนไม่ยอมเพราะเห็นว่าถูกรังแก จึงพยายามคัดค้านแต่ไม่สำเร็จ เมื่อเห็นว่าตนไม่ยอม ผู้บริหาร บสท.จึงไปซื้อหนี้ส่วนตัวที่มีอยู่ในธนาคารไทยธนาคารมูลหนี้ 39 ล้านบาท หวังทำลายชื่อเสียงและธุรกิจที่ผมเป็นเจ้าของกิจการอีกหลายแห่ง เชื่อว่าน่าจะมีการตั้งธงให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะหลังจากซื้อหนี้มา บสท.มีการเตะถ่วงไม่ปรับโครงสร้างหรือฟื้นฟูหนี้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

"ผมจำนำหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ บสท.ไม่ยอมบังคับคดี ไม่นำไปหักหนี้แล้วยังบวกดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 86 ล้านบาท เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมยื่นฟ้องล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลาง ต่อมาศาลนัดฟังคำตัดสินเมื่อเดือนเมษายนพิพากษายกฟ้อง ศาลเห็นว่ารูปคดีไม่พอฟังได้ว่าผมมีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลชี้ 2 ประเด็นคือประเด็น บสท.มีอำนาจฟ้อง แต่ประเด็นลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ปรากฏว่าศาลยกฟ้อง ผมจึงฟ้องเพื่อให้เป็นบทเรียนกับผู้บริหารและบอร์ด บสท. นอกจากเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีตัวเองแล้ว ผมอยากให้เป็นมาตรฐานและอยากเห็นลูกหนี้ที่ถูกกลั่นแกล้งลุกขึ้นสู้ด้วย"

ศาลเห็นว่าการฟ้องล้มละลาย ประเด็น บสท.อ้างว่าประนอมหนี้ตามขั้นตอนโดยผ่านเอกสารไปตามที่อยู่ลูกหนี้นั้น ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และหลังจากลูกหนี้นำบัญชีเงินฝากมาแสดงต่อศาล ชี้ให้เห็นว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์เพียงพอต่อการชำระหนี้

"จากที่ถูกฟ้อง 86 ล้านบาท ผมเอาบัญชีเงินฝากที่มีอยู่มาแสดงต่อศาล 87 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 มี.ค.แต่เมื่อ บสท.เห็นกลับอ้างเรื่องเอกสารขอคุยกับผู้ใหญ่ก่อน แล้วขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 26 มี.ค. แต่พอถึงวันที่ 6 มีหนังสือจากกรมบังคับคดีเรียกเพิ่มอีก 11 ล้านบาท ผมก็เอาเงินฝากเพิ่มรวมเป็น 98 ล้านบาท ตอนนี้เงินถูกอายัดไปทั้งสิ้น 96 ล้าน ผมไม่ติดใจจำนวนเงินมากเท่ากับถูกรังแก จึงลุกขึ้นสู้ด้วยการฟ้องกลับ" นายจิระย้ำ

โดยประเด็นกฎหมายที่ปกป้อง บสท.นั้น นายจิระยืนยันว่ามีข้อกฎหมายที่พิสูจน์ชัดถึงความผิดชัดเจนคือกฎหมายอาญา มาตรา 188 "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือ ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท" โดยเล่นงาน บสท.อมใบหุ้นที่ตนวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวน 1.148 ล้านหุ้น ซึ่งเคยคุ้มมูลหนี้แต่ราคาหุ้นลดลงตามภาวะตลาด ปัจจุบันเหลือประมาณ 11 ล้านบาท แต่ก็ยังใช้หักจากเงินต้นได้ จุดนี้แสดงว่า บสท.ยังผิดกฎหมายมาตรา 284 ของ บสท.ที่ห้ามไม่ให้อายัดทรัพย์เกินกว่ามูลหนี้ เพราะเงิน 96 ล้านบาทได้ถูกยึดไปแล้ว แต่ 11 ล้านบาทยังไม่คืน อย่างไรก็ตาม

จากการศึกษาข้อกฎหมาย บสท.พบว่ามีแต่ใช้อำนาจ ไม่มีบทลงโทษผู้บริหาร

ไม่ว่ามาตรา 51 57 28 หรือแม้แต่ 284 หากลูกหนี้ฟ้อง บสท.ก็ได้รับการคุ้มครอง แม้แต่มาตรา 157 ของ ป.ป.ช.เพราะพนักงานและผู้บริหาร บสท.ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

"มีเพียงกฎหมายอาญามาตรา 188 เท่านั้น ที่เหลือทำอะไรคน บสท.ไม่ได้ นี่คือความชั่วร้ายของคนที่คิดจะเอาเปรียบคนอื่น ไม่มีกฎหมายแบบนี้ที่ไหนในโลก ผมไม่อยากพูดว่า บสท.เกิดสมัยรัฐบาลทักษิณ (พ.ศ. 2544) เขียนไว้เพื่ออะไร พวกปล้นทรัพย์ เอาเปรียบประชาชน ถ้าจะให้พูดตรงๆ บสท.ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูพรรคพวก ใครไม่ใช่พวกโดนทำลาย เรื่องนี้หลายคนไม่กล้าพูด" นายจิระกล่าวและย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเป็นการเลือกปฎิบัติของผู้บริหาร บสท.ที่มี 2 มาตรฐาน กล่าวคือกรณีไทยพับลิคพอร์ตลดหนี้ให้นายสมบัติ ฟื้นฟูเอื้อประโยชน์แต่กรณีตนปล่อยให้ยอดหนี้สูงเกือบร้อยล้าน ไม่มีการติดต่อเจรจาให้ไปฟื้นฟู

นายจิระเปิดเผยว่า จะฟ้องทั้งอาญาและแพ่ง โดยขณะนี้ได้ยื่นฟ้องผู้บริหารบสท.ทั้ง 21 คน ต่อศาลอาญา ซึ่งศาลรับฟ้องและนัดไต่สวนนัดแรกในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ส่วนผู้ถูกฟ้องร้องหรือจำเลยมีทั้งอดีตบอร์ด บสท.และบอร์ดปัจจุบัน ได้แก่

  • นายเชาว์ สายเชื้อ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  • คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยพาณิชย์
  • นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ อดีตกรรมการผู้จัดการ บสท.
  • นายกัญจนพันธุ์ พันธุ์สุวรรณ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บสท.
  • นายวิชิต ชุมชัยเวทย์
  • นายปรีชา อาภาวัฒนาสกุล
  • น.ส.ธนษร เพชรแสงใสกุล
  • นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง
  • รศ.คิม ไชยแสนสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ร.ต.คัมภีร์ แก้วเจริญ
  • นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  • นายชัยวัธ มะระพฤกษ์วรรณ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
  • นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
  • นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย
  • นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยและประธานสมาคมธนาคารไทย
  • นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาสมาคมธนาคารไทย
  • นายวิรัช กฤตผล รองประธานกรรมการ บริษัท มิลเลนเนียม สตีล จำกัด (มหาชน) และ
  • นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

***บิ๊ก บสท.อ้างทำตามกฎหมาย

แหล่งข่าวบอร์ด บสท.ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายของ บสท.พิจารณาข้อกฎหมายแล้ว ไม่มีปัญหา บสท.ทำตามกฎหมาย เชื่อว่าสามารถแก้ต่างได้ เพราะ บสท.ไม่มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์ กฎหมายไม่ได้ระบุให้ บสท.เอาหุ้นลูกหนี้ออกขายและหุ้นที่ลูกหนี้จำนำไว้ไม่มีสภาพคล่องให้ซื้อขาย อย่างไรก็ตาม บสท.เปิดโอกาสให้ลูกหนี้เจรจา (<<หลังจากโดนฟ้องกลับ - TDMZ)

"การฟ้องล้มละลายลูกหนี้เป็นสิทธิ์ที่ บสท.ในฐานะเจ้าหนี้ทำได้ตามกฎหมาย มีสิทธิ์บังคับหรือไม่บังคับขายหุ้นที่ลูกหนี้จำนำไว้ เพราะหุ้นที่จำนำเป็นสิทธิ์ของ บสท. กฎหมายให้ฟ้องหรือไม่ฟ้อง บังคับหรือไม่บังคับก็ได้" แหล่งข่าวกล่าว

TDMZ - อเมริกามี Chapter11 Bankruptcy Protection เมืองไทยกลับมีแต่อยากจะให้ลูกหนี้ล้มละลาย

Chapter 11

Reorganization Under the Bankruptcy Code

The chapter of the Bankruptcy Code providing (generally) for reorganization, usually involving a corporation or partnership. (A chapter 11 debtor usually proposes a plan of reorganization to keep its business alive and pay creditors over time. People in business or individuals can also seek relief in chapter 11.)

Label Cloud