Find Other Sides of Thai Politic. Update you on the political turmoil in Thailand.

อ่าน ทวิตเตอร์

Upcoming

Wednesday, September 30, 2009

ป.ป.ช.มีมติเชือด'สมัคร-นพดล' หนุนเขมรขึ้นทะเบียนพระวิหาร

ป.ป.ช.มีมติเชือด'สมัคร-นพดล' หนุนเขมรขึ้นทะเบียนพระวิหาร - กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์

ปปช.สั่งเชือด'สมัคร-นพดล'หนุนเขมรขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เตรียมส่งอัยการยื่นฟ้องศาลฎีกาฯ ส่วนรมต.รอดหมด เพราะรู้ข้อมูลในวันประชุม
เมื่อเวลา 16.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก และนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อลงมติชี้มูลความผิดคดีเขาพระวิหาร ว่า จากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2551 มีการประชุม ครม. โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดย ครม.ได้มีมติให้ความเห็นชอบในร่างคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ในการสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลก ตามที่นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศเสนอ หลังจากนั้นในวันที่ 27 มิ.ย. 2551 ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยโดยมีคำสั่งห้ามมิให้ รมว.การต่างประเทศและครม. ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2551 เกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งยืนตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง

นายกล้านรงค์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา เนื่องจากมีข้อความเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าแม้ในแถลงการณ์ร่วมจะไม่ปรากฏสาระสำคัญอย่างชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมด พบว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปได้ นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังเห็นว่าการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่เป็นประเด็นโต้เถียงในเรื่องเส้นเขตแดน อีกทั้งเป็นประเด็นที่มีความแตกต่างด้านสังคมและการเมืองมาโดยตลอด การที่นายนพดลได้เจรจากับกัมพูชา ก่อนที่จะลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว พึงเล็งเห็นได้ว่าหากลงนามไปแล้วอาจก่อให้เกิดการแตกแยกทางความคิดของคนทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤตด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันมีผลกระทบด้านความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง

นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติ 6 ต่อ 3 ว่านายนพดลและนายสมัครมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยในส่วนของนายนพดลนั้น มีพยานหลักฐานว่าดำเนินในลักษณะปิดบังอำพรางไม่โปร่งใส อีกทั้งมีหลักฐานแสดงว่านายนพดลมีมูลเหตุจูงใจอย่างอื่นแอบแฝง ซึ่งจากพยานหลักฐานนั้นน่าเชื่อว่านายนพดลรู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้สำคัญเกินกว่าที่จะให้ฝ่ายบริหารดำเนินการ โดยปราศจากการตรวจสอบของรัฐสภาและยังรู้ถึงความเสียหายที่เกิดจากสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทยและผลกระทบทางสังคม ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้เจ้าหน้าที่เสนอผลเสียของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่นายนพดลไม่รับฟังแม้จะมีการวิพากษ์กันอย่างกว้างขวางทั้งจากนักวิชาการ นักการเมืองและสื่อมวลชน แต่นายนพดลกลับตอบโต้อย่างรุนแรง

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า จากพยานหลักฐานในสำนวนเมื่อพิจารณาประกอบกับสถานะทางการเมืองของนายนพดลในฐานะเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ ซึ่งต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ทั้งสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตและผลกระทบทางสังคม ตลอดจนความเสียหายจากสภาวะและผลกระทบดังกล่าว ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่านายนพดลกระทำไปโดยรู้ไปอย่างดีในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงถือว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและคนไทยทุกคน นายนพดลจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ส่วนนายสมัครในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องรู้ดีถึงความอ่อนไหวของประเด็นที่จะทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องอาณาเขตและวิกฤตการณ์ทางสังคม อีกทั้งนายสมัครได้เป็นฝ่ายขอให้นายนพดลดำเนินการเพื่อช่วยเหลือสมเด็จฮุนเซน ในการเลือกตั้ง ในวันที่ 27 ก.ค. 2551 ซึ่งการนำผลประโยชน์ของประเทศชาติมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมืองต่างประเทศอย่างนี้ หากมองถึงสถานะทางการเมืองของนายสมัครที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เห็นได้ว่าเป็นสิ่งเหลือเชื่อที่จะมีนักการเมืองคนใดจะมีความคิดเช่นนี้ นายสมัครจึงมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับนายนพดล โดย ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติ 6 ต่อ 3 ให้ถอดถอนนายสมัครและนายนพดลออกจากตำแหน่ง ตามความผิดตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ โดยให้ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการต่อไป ส่วนผู้ถูกกล่าวที่เป็นรัฐมนตรีที่เหลือในรัฐบาลนายสมัครอีก 25 คนนั้น ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมในการออกแถลงการณ์ร่วมด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีเจตนากระทำความผิดร่วมกับนายสมัครและนายนพดล เนื่องจากการดำเนินการของนายนพดลมีลักษณะเป็นงานทางวิชาการและทางเทคนิค การรับรู้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ เป็นการรับรู้ตามที่นายนพดลและนายสมัครแจ้งในที่ประชุมครม. ในเวลาอันสั้นเท่านั้น ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้จึงไม่น่าจะรู้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่จะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตและความมั่นคงของประเทศ สำหรับข้าราชการที่ถูกกล่าวหาอีก 5 คนนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดร่วมกับนายนพดลและนายสมัคร เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานว่าข้าราชการเหล่านี้ได้ล่วงรู้ถึงมูลเหตุจูงใจทางกาเมืองของนายสมัครและนายนพดล ที่จะช่วยเหลือพรรคการเมืองของกัมพูชา

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยนั้นจากการไต่สวนพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการออกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ส่วนนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งไปก่อน

เมื่อถามว่า จะมีการนำสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดเมื่อไหร่ นายกล้าณรงค์ กล่าวว่า หลังจากนี้เราจะรับรองมติการประชุม จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำสำนวนให้กรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คนลงนาม ก่อนที่จะส่งสำนวนทั้งหมดให้กับประธานวุฒิสภาและอัยการสูงสุด จากนั้นอัยการสูงสุดจะพิจารณาและส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกา แผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

เมื่อถามว่า การที่ป.ป.ช.ใช้คำว่า รู้ว่าอาจจะทำให้เสียดินแดน เหตุใดจึงเห็นว่า นายนพดลจงใจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นายวิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นคำวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความคำว่า สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตให้รวมถึงหนังสือสัญญาที่มีบทต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตด้วย โดยเฉพาะกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เกิดจากภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย จึงเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลต่ออาญาเขต ฉะนั้นในการวินิจฉัยการกระทำของนายสมัครและนายนพดลมีเจตนาหรือไม่นั้น จะอยู่ที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 รู้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เป็นภาวะสุ่มเสี่ยงต่ออาณาเขตของประเทศไทย รวมถึงความผู้กล่าวหาทั้ง 2 รู้ถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ทำให้ความมั่นคงของประชาชนกระทบอย่างรุนแรงหรือไม่ด้วย ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็ต้องถือว่ายุติตามนั้น คณะกรรมการหรือหน่วยงานอื่นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้

เมื่อถามว่า ดูจากหลักฐานที่ป.ป.ช.พิจารณา ส่วนใหญ่มาจากฝ่ายตรงข้ามนายนพดล นายวิชัย กล่าวว่า ไม่ใช่ เรานำมาทั้งฝ่ายเดียวกันและฝ่ายตรงข้ามนายนพดล โดยเฉพาะหลักฐานจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ อาทิ คำแถลงของนายนพดลและคำกล่าวของนายสมัครกรณีที่ขอให้นายนพดลช่วยเหลือสมเด็จฮุนเซนที่จะมีการเลือกตั้ง

นายกล้าณรงค์ กล่าวว่า เราไม่ได้นำหลักฐานฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามนายนพดลเท่านั้น แต่เราได้นำหลักฐานเป็นเอกสารจากกระทรวงต่างประเทศและการสอบปากคำเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศทั้งหมด รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก่อนที่จะมาวินิจฉัย

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ส่วนการชี้มูลนายสมัครนั้น เราดูจากพฤติการณ์ที่มีมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งข้อความในคำแถลงการณ์ว่าในกรณีดังกล่าวมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร ดังนั้นเอกสารหลักฐานในการชี้มูลของป.ป.ช.มีจำนวนหลายร้อยหน้า ซึ่งรวมทั้งสำเนาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย และทั้งหมดจะส่งให้อัยการสูงสุดต่อไป เพื่อส่งไปยังประธานวุฒิสภาต่อไปด้วย

เมื่อถามว่า กรณีของนายนพดลได้พิจารณาจากผลของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองด้วยใช่หรือไม่ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ไม่ใช่ ศาลปกครองวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นเรื่องของศาลปกครอง เพียงแต่ป.ป.ช.ได้นำข้อวินิจฉัยดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย แต่อย่างไรก็ตามสำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องยืนยันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับทุกองค์กร

ด้านนายวิชัย กล่าวว่า การพิจารณาความผิดเกี่ยวกับมาตรา 190 ก็ต้องดูว่าเขารู้อยู่แล้ว ถึงพฤติการณ์และข้อเท็จจริงนั้นหรือไม่ เนื่องจากเราจะอ้างว่าไม่รู้ข้อกฎหมายไม่ได้ แต่สำหรับข้อเท็จจริงอ้างว่าไม่รู้นั่นได้ เพราะถ้าอ้างว่า เข้าใจผิดในข้อกฎหมายว่า จะต้องนำเข้าสภาหรือไม่ อย่างนั้นไม่สามารถอ้างได้ และในกรณีนี้สิ่งที่ถูกประทุษร้ายคืออำนาจของรัฐสภาที่จะตรวจสอบการกระทำของฝ่ายบริหาร เพราะแต่เดิมถือว่าการทำสนธิสัญญาเป็นเอกสิทธิ์ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติจะไปยุ่งด้วยไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปลี่ยนหลักการว่า หากเป็นสนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศแล้ว ฝ่ายรัฐสภาเท่านั้นที่จะให้ความเห็นชอบ แต่ฝ่ายบริหารดำเนินการโดยพลการไม่ได้ หากดำเนินการโดยพลการก็ถือว่าผิด ดังนั้นความสำคัญอยู่ที่ความยิ่งใหญ่ของปัญหา ไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ว่าไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบประเทศกัมพูชา

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับเสียงของกรรมการป.ป.ช. 6 ต่อ 3 ที่ชี้มูลในครั้งนี้นั้น เสียงข้างน้อยจะเป็นใครบ้างคงบอกไม่ได้ ซึ่งความเห็นต่างในศาลนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดามาก บางครั้งในศาลเสียง 5 ต่อ 4 ยังเป็นของปกติเลย เมื่อถามว่าจะส่งผลต่อการสู้ดีของนายนพดลหรือไม่ นายวิชัย กล่าวว่า เชื่อว่าคงไม่ส่งผลใดๆ

ด้านนายกล้านรงค์ กล่าวว่า ในแต่ละเสียงที่มีมติซึ่งเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าไม่มีมูลให้คำร้องตกไปก็จะต้องอยู่ในสำนวนการไต่สวนด้วย หรือแม้แต่เสียงข้างน้อยหนึ่งเสียงที่เห็นว่าผิดทั้งหมดก็จะอยู่สำนวนการไต่สวนด้วยเช่นกัน ส่วนเสียงข้างมาก 5 เสียงที่เห็นว่ามีความผิดเฉพาะสองคนก็อยู่ในสำนวนการไต่สวน ดังนั้นเป็นเรื่องที่ป.ป.ช. ดำเนินการตามปกติ ถือเป็นวิจารณญาณเฉพาะเรื่อง


Label Cloud