Find Other Sides of Thai Politic. Update you on the political turmoil in Thailand.

อ่าน ทวิตเตอร์

Upcoming

Tuesday, September 8, 2009

ฟัน 4บิ๊ก ฆ่า7ตุลา อัปยศ!'ชาย-จิ๋ว-ป๊อด'โทษลูกน้อง

ฟัน 4บิ๊ก ฆ่า7ตุลา อัปยศ!'ชาย-จิ๋ว-ป๊อด'โทษลูกน้อง | ไทยโพสต์
ป.ป.ช.เชือดคนสั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาแล้ว "สมชาย-บิ๊กจิ๋ว" ผิดอาญา ส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองลงทัณฑ์ ส่วน "พัชรวาท-สุชาติ" ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อ่วมทั้งอาญาและวินัยร้ายแรง โทษต้องออกสถานเดียว ประเทศไทยสุดชีช้ำ โคตรอัปยศ! หาชายชาตรีไม่ได้ พบคำให้การโยนเป็นทอดๆ "ชายกระโปรง" ป้ายขี้ให้ตำรวจ อ้างยังไม่แถลงนโยบายสั่งตำรวจไม่ได้ "ป๊อด" เหลวไหลโทษลูกน้อง "สุชาติ" รับสภาพ "ดีแล้วที่ความผิดสุดท้ายจบลงที่ผม ไม่มีความผิดไปถึงน้องๆ" ฝ่ายค้านจุดไฟต่อ ปูดเป็นแผนตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่

เมื่อวันจันทร์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประชุมนัดพิเศษ พิจารณาข้อกล่าวหานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพวก รวม 9 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่กรณีสั่งให้มีการสลายการชุมนุมผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ใช้เวลานานถึง 6.30 ชั่งโมง

จากนั้น นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษก ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมว่า ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ตลอดจนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาแล้วเห็นว่า

1.นายสมชาย ได้เรียกประชุม ครม.เป็นนัดพิเศษเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้ชุมนุม โดยเรียก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เข้าประชุม และสั่งการให้ไปดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายต่อรัฐบาลให้ได้ นอกจากนี้ ครม.ได้มีมติมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ติดตามตรวจสอบสถานการณ์และกำกับดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในวันประชุมร่วมรัฐสภา โดยให้ประสานสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งหลังการประชุม พล.อ.ชวลิตได้เดินทางไปมอบนโยบายให้ สตช.ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยให้นโยบายสรุปว่า "พรุ่งนี้ต้องใช้รัฐสภาเป็นที่ประชุม โดยพยายามเอาตำรวจเข้าไปเพื่อรักษาสถานที่ก่อน จะทำอย่างไร จะเอากำลังเข้าไปเท่าไรก็ได้ สิ่งที่สำคัญจะต้องเปิดเส้นทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปให้ได้ในเวลา 09.30 น." เมื่อ พล.อ.ชวลิตเดินทางกลับ สตช.จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกฯ และรองนายกฯ

นายกล้านรงค์แถลงว่า นายสมชายได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า 1.มิได้เรียก พล.ต.อ.พัชรวาทมาพบ 2.ไม่มีคำสั่งให้เปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม 3.การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย และหน้าที่และดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4.แม้ ครม.จะมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิตเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ แต่อยู่ในฐานะกำกับนโยบาย อำนาจยังเป็นของเจ้าหน้าที่ตามแผนกรกฎ 48 5.ครม.ยังมิได้แถลงนโยบายต่อสภา จึงไม่มีอำนาจในการบริหารและสั่งการตำรวจ

โฆษก ป.ป.ช.กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้พิจารณาการแก้ข้อกล่าวหาของนายสมชายแล้ว มิอาจหักล้างข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนได้ เนื่องจากพบว่ามีคำให้การของพยานบุคคลที่เป็น ส.ส.คนหนึ่งยืนยันว่า นายสมชายเป็นคนสั่งให้โทรศัพท์ไปเรียก พล.ต.อ.พัชรวาทไปพบที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว นอกจากนี้ พล.ต.อ.พัชรวาทยังยืนยันว่า ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ชวลิตให้เปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม และเข้าพบนายสมชายเพื่อขอคำยืนยัน

"ปรากฏจากรายงานการประชุม ครม. ระบุว่ามีมติมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิตประสานกับ สตช.เพื่อสั่งการให้ตำรวจเปิดเส้นทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมให้ได้ จึงต้องถือว่าเป็นมติของ ครม.ภายใต้การกำกับดูแลของนายสมชายนายกฯ ขณะนั้น"

มติ 8 ต่อ 1 ฟัน "สมชาย"

นายกล้านรงค์กล่าวว่า การที่นายสมชายอ้างว่ายังไม่มีอำนาจนายกฯ เนื่องจากยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เห็นว่าอำนาจนายกฯ ได้นับแต่วันที่โปรดเกล้าฯ พร้อมถวายสัตย์ฯ แล้ว จึงถือว่านายกฯ มีอำนาจของนายกฯ สมบูรณ์ มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เหนือข้าราชการทุกกระทรวง ทบวงและกรม และมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติการใดๆ ได้

"ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เหตุการณ์ในตอนเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมจนขาขาด ดังนั้นนายกฯ จึงควรยับยั้งไม่ให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่เช่นนั้นอีก แต่นายสมชายก็หาได้สั่งการไม่ กลับปล่อยให้เจ้าหน้าที่กระทำซ้ำอีกในช่วงบ่ายและค่ำ ฉะนั้นการกระทำของนายสมชายที่ควรบริหารให้บ้านเมืองมีความปลอดภัย เคารพสิทธิการแสดงออกของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ"

เขาระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ว่าการกระทำหรือละเว้นการกระทำของนายสมชาย มีมูลความผิดทางอาญาฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

2.พล.อ.ชวลิต คืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เมื่อ พล.อ.ชวลิตเดินทางกลับยังได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ รัตนพร นายตำรวจนอกราชการ พล.ต.ต.สุรพงศ์ สิริภักดี ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ อยู่ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ การดำเนินการตามคำสั่งของ พล.อ.ชวลิตได้ใช้กำลังเพื่อเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมได้ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. และการเปิดทางดังกล่าว ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ แม้ต่อมา พล.อ.ชวลิตจะประกาศความรับผิดชอบด้วยการลาออกเวลา 09.00 น.

พล.อ.ชวลิตได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยสรุปว่า 1.รัฐบาลนายสมชายยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภา จึงไม่มีอำนาจในการสั่งการ การดำเนินการใดๆ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตามกฎหมาย 2.ก่อนประชุม ครม. พล.อ.ชวลิตมิได้เรียก พล.ต.อ.พัชรวาทไปสั่งการเปิดทางเข้ารัฐสภาโดยวิธีการสลายการชุมนุม และมิได้สั่งการเช่นเดียวกับที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล 3.เมื่อเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม พล.อ.ชวลิตได้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการแสดงการรับผิดชอบทางการเมือง มิใช่การยอมรับผิดตามที่กล่าวหา 4.ครม.มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต อำนวยการและควบคุม แต่ไม่มีอำนาจในการสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ผลักดันผู้ชุมนุม

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พล.อ.ชวลิตสั่งให้เปิดทางเข้าประชุมในเวลา 09.30 น. ของวันที่ 7 ต.ค.ให้ได้ สอดคล้องกับเทปบันทึกเสียงที่ พล.อ.ชวลิตสั่งการว่า "จะต้องเปิดเส้นทางให้ ส.ว.และ ส.ส.เราเข้าไปให้ได้" โดยการสั่งการดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางเข้าสู่ประตูปราสาทเทวฤทธิ์

"คำปฏิเสธว่าลาออกแล้ว พิจารณาจากผลการกระทำของตำรวจจนทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง การแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หาได้พ้นความรับผิดในฐานะเป็นผู้สั่งการไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าว พล.อ.ชวลิตได้ติดตามโดยตลอด โดยให้ พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ และ พล.ต.ต.สุรพงศ์ เป็นผู้ติดตามสถานการณ์โดยตลอด การที่ พล.อ.ชวลิตอ้างว่า ไม่ได้รับรายงานและทราบข่าวจากสื่อมวลชนตอนเช้านั้นจึงฟังไม่ขึ้น การตัดสินใจลาออกจึงเป็นการหลีกหนีความรับผิดชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติด้วยเสียง 6 ต่อ 3 ว่ามีมูลความผิดทางอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157"

"ป๊อด"โยนให้"สุชาติ"

3.พล.ต.อ.พัชรวาท เมื่อ พล.ต.อ.พัชรวาทเดินทางไปถึงทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว ก็ได้พบกับ พล.อ.ชวลิต และได้รับการแจ้งว่า การประชุมวันที่ 7 ตุลาคม จะต้องมีการประชุมรัฐสภาให้ได้ พล.ต.อ.พัชรวาทแสดงความเห็นว่าน่าจะเปลี่ยนสถานที่หรือเลื่อนการประชุม แต่ไม่มีการตอบสนองแต่อย่างใด หลังจากนี้ พล.อ.ชวลิตได้เดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสั่งการให้เปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าฟังการแถลงนโยบายในเวลา 19.30 น.

พล.ต.อ.พัชรวาทได้ปฏิเสธและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาสรุปได้ว่า การสั่งการของนายสมชายและ พล.อ.ชวลิต ถือเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ต้องปฏิบัติตาม ส่วนการใช้แก๊สน้ำตาถือเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีความรุนแรง การเสียชีวิตของนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ไม่ได้เกิดจากแก๊สน้ำตา นอกจากนี้ พล.ต.ท.สุชาติ ผู้บัญชาการเหตุการณ์เป็นผู้สั่งการตามแผนกรกฎ 48 โดยไม่ต้องเสนอผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้หน่วยที่สลายการชุมนุมไม่ใช่หน่วยอรินทราช 26 หรือหน่วยนเรศวร 261 ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจาก ผบ.ตร. และเหตุการณ์ 7 ตุลาคมไม่เคยได้รับรายงานหรือขอให้สลายการชุมนุมตามแผนกรกฎ 48 แต่อย่างใด

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาจากการโยนและยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมจนทำให้มีเสียหายในตอนเช้า และกระทำซ้ำในตอนบ่าย พล.ต.อ.พัชรวาทมีอำนาจบังคับบัญชาใน สตช.และแต่งตั้งให้ พล.ต.ท.สุชาติเป็นผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ แม้แผนกรกฎ 48 พล.ต.อ.พัชรวาทจะมิได้ลงนาม แต่ก็จัดทำในนาม ผบ.ตร. ฉะนั้นเมื่อทราบว่าในการผลักดันผู้ชุมนุมมีเหตุรุนแรง ผบ.ตร.ย่อมมีอำนาจสั่งการให้หยุดยั้งการกระทำที่เป็นอันตรายต่อประชาชนได้ การกล่าวอ้างว่าไม่เคยได้รับรายงานหรือขออนุมัติในการใช้กำลังสลายการชุมนุม ไม่มีเหตุผลให้พ้นความผิดได้

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเห็นด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทได้กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 79 (5) (6) และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

4.พล.ต.ท.สุชาติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบช.น. ในฐานะผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ ตามแผนกรกฎ 48 ได้ปฏิบัติหน้าที่เกิดกว่าเหตุจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อทราบเหตุการณ์ในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค.แล้วมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่เวลา 16.00 และ 19.00 น. พล.ต.ท.สุชาติก็ยังคงสั่งให้ใช้แก๊สน้ำตาผลักดันผู้ชุมนุมอีก จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ขาขาด มือขาด โดยไม่ดำเนินการทบทวนวิธีการหรือหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 เห็นว่า การกระทำของ พล.ต.ท.สุชาติ มีมูลความผิดฐานทำร้ายประชาชนและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 79 (3) (5) (6) และมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

สำหรับ พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น., พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น., พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกปฏิบัติการสลายการชุมนุมทั้งหมด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามการสั่งการของ ผบช.น. ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และ ผบ.ตร. ส่วน พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร. ไม่พบพยานหลักฐานว่ามีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

นายกล้านรงค์กล่าวว่า หลัง ป.ป.ช.มีมติชี้มูล สำหรับความผิดทางอาญาก็จะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองต่อไป ส่วนความผิดทางวินัย ก็จะส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาบทลงโทษภายใน 30 วัน โดยคาดว่าจะสามารถส่งเอกสารทั้งหมดได้ในเวลา 2 สัปดาห์

โทษ"พัชรวาท"ออกสถานเดียว

สำหรับโทษของ พล.ต.อ.พัชรวาท ในความผิดทางวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีโทษเพียงปลดออกหรือไล่ออกเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อบำเหน็จบำนาญด้วย ส่วนการพิจารณาให้พักราชการ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 55 เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาต่อไป

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดแถลงข่าวทันทีโดยบอกว่า มั่นใจเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยในวันที่มีการชุมนุม ระหว่างที่ตนจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งในคืนวันที่ 6 ตุลาคม ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปปิดล้อมอาคารรัฐสภาเป็นจำนวนมากอย่างผิดปกติ ตนจึงได้เชิญ ครม.มาหารือ โดยมีการบันทึกการประชุม ครม.ในคืนนั้นด้วย ซึ่งตนได้แจ้งกับที่ประชุม ครม.และรัฐมนตรีหลายคนได้ให้ความเห็นว่า น่าจะมีการย้ายการประชุม ครม.หรือเลื่อนการแถลงนโยบาย

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ตนก็ได้ให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์หารือกับนายชัย ซึ่งนายชัยก็ระบุว่าให้ดำเนินการไปตามที่สั่งไว้ ตนจึงสั่งให้รัฐมนตรีไปดูข้อเท็จจริงที่สภาว่าเข้าประชุมได้หรือไม่ หากเข้าไม่ได้ ก็ให้รอคำสั่งจากประธานสภาฯ เมื่อเช้าวันรุ่งขึ้นก็ทราบข่าวว่ามีการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม จึงได้ให้ ผบ.ตร.มาให้ข้อมูลกับ ครม.อีกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรักษาสถานการณ์บ้านเมืองตามหน้าที่

"เราในฐานะที่เป็น ครม.ไม่สามารถสั่งการอะไรได้ เพราะยังไม่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา" นายสมชายโยนความผิดไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

เขายังบอกว่า เช้าวันนั้นได้รับแจ้งให้เข้าสู่สภาจนตนแถลงนโยบายเสร็จประมาณ 11 นาฬิกา ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รีบออกจากสภา เพราะจะมีผู้ชุมนุมบุกเข้ามาทำร้าย โดยจะเปิดทางข้างหน้า แต่จะทำหรือไม่ทำ จะใช้แก๊สหรือไม่ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ไม่ใช่ว่าตำรวจทำแล้วจะมีความผิด เพราะเป็นการทำไปตามอำนาจหน้าที่

"ผมยอมเสียศักดิ์ศรีความเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่กับผู้ชุมนุม โดยปีนออกไปข้างหลังยังพระที่นั่งวิมานเมฆ แต่ยังออกไปไม่ได้เพราะมีการปิดทุกประตู จนสุดท้ายก็ต้องมีการประสานงานเจ้าหน้าที่พระที่นั่งวิมานเมฆให้เฮลิคอปเตอร์มารับผมออกไป หลังจากออกมา ไปประชุมที่กองทัพไทย ก็ได้รับแจ้งว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะบุกเข้าไปทำร้าย ส.ส.และ ส.ว. แต่ผมไม่อยู่ในอำนาจ ที่จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจมีแผนกรกฎที่ได้วางเอาไว้ตั้งแต่ก่อนหน้าแล้ว" อดีตนายกฯ พยายามปัดความผิดให้พ้นตัว

นายสมชายกล่าวว่า ได้ไปแก้ข้อกล่าวหาโดย ป.ป.ช.ที่ไม่ได้มีการเรียกให้ตนไปให้การใดๆ เลย ซึ่งตนเป็นผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องมีสิทธิในการแก้ข้อกล่าวหาและดูเอกสารหลักฐานการกล่าวหา ตนได้ไปร้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร โดยได้มีหนังสือกลับมาถึงตน 2 ฉบับในการเร่งตัดสินว่า ตนสามารถดูเอกสารจากทาง ป.ป.ช.ให้เร็วที่สุด

"และในปลายเดือนสิงหาคม คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารนัดให้ ป.ป.ช.ไปให้ข้อมูลวันที่ 8 กันยายน แต่ ป.ป.ช.กลับนัดลงมติกรณีผมในวันที่ 7 กันยายน จนกระทั่งวันที่ 4 กันยายน ผมก็ได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาว่าผมมีสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ที่จะมีสิทธิตรวจสอบเอกสาร พยาน และหลักฐานตามที่ ป.ป.ช.ใช้ในการกล่าวหา เพราะเท่าที่ปรากฏข้อเท็จจริงกับผมนั้น ไม่มีสิ่งที่ ป.ป.ช.กล่าวหาอยู่ แต่สุดท้าย ป.ป.ช.ก็รีบเร่งมีมติและชี้มูลออกมาในวันที่ 7 กันยายนโดยไม่รอฟังคำสั่งศาล ทำให้ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้ โดยแสดงให้เห็นว่า ป.ป.ช.ไม่ยอมรับระบบของความยุติธรรมตามกฎหมาย และไม่สนใจการดำเนินการของศาลปกครอง"

"ชายกระโปรง"สู้ต่อ

นายสมชายได้ยืนยันว่า หลังจากนี้จะแต่งตั้งทนายความเพื่อต่อสู้คดี แต่จะไม่ฟ้องกลับไปที่ใครทั้งนั้น แต่จะสู้คดีไปตามที่ตนมีสิทธิ์ต่อสู้คดีต่อไป

เขายังได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า "ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการกล่าวหาข้าพเจ้าในครั้งนี้ ถือเป็นคดีทางการเมือง"

ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท ยืนกรานที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยบอกว่า "ทำไมจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ไม่มีข้อห้าม จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งตามกฎหมายออกมา ไม่มีข้อห้ามตรงไหนในการปฏิบัติ"

ด้าน พล.ต.ท.สุชาติบอกว่า เคารพกติกา เพราะเป็นนักกีฬา ผลออกมาอย่างไรก็เคารพ เพราะได้ทำหน้าดีที่สุดแล้ว จะตัดสินอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น

"ดีแล้วที่ความผิดสุดท้ายจบลงที่ผม ไม่มีความผิดไปถึงน้องๆ ผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะต้องได้รับคำสั่งมาจากผม ซึ่งถูกต้องตามสายบังคับบัญชาและทำตามกฎหมาย แต่ผมได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเหนือกว่าผม แต่ก็ดีที่ผมยังมีที่ยืน"

ด้าน พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ นายกสมาคมตำรวจ กล่าวว่า คิดว่าต้องดูถ้อยคำแถลงและคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่ามีเหตุผลอย่างไร มีการพิจารณาพยานหลักฐานครอบคลุมทุกด้านหรือไม่ และได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกชี้มูลพอเพียงหรือไม่ มีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่รัฐสภา ส.ส.ที่มีชีวิตอยู่ใกล้อันตรายเพียงใด รวมทั้งมีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่ สมาคมตำรวจซึ่งมีนักกฎหมาย และที่ปรึกษาที่มีความรู้ด้านกฎหมายจะมีการช่วยเหลือแนะนำในเรื่องพยานหลักฐานใหม่ เพื่อใช้ในการต่อสู้ในเรื่องนี้

"ขอเตือนสังคมต้องช่วยกันดูแลตำรวจให้ดีพอสมควร เพราะตำรวจเป็นเครื่องมือรักษาความสงบเรียบร้อย จัดระเบียบสังคม อย่าให้รู้สึกว่าตำรวจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม มีการบีบคั้นจนตำรวจไม่มีทางออก อย่าทำกันถึงขั้นนั้นเลย"

เขายังบอกว่าข้อสังเกตการชี้มูลของ ป.ป.ช. จงใจให้ออกมาเพื่อให้นัดประชุม ก.ต.ช.แต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ โดยมีการแต่งตั้งรักษาการ ผบ.ตร.เข้ามาเป็นกรรมการ ก.ต.ช.แทน พล.ต.อ.พัชรวาท หาเสียงสนับสนุนการตั้ง ผบ.ตร.ของนายอภิสิทธิ์เป็นที่น่าสังเกตว่ามีความเป็นไปได้เหมือนกัน

พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.อ.พัชรวาทจะหมดโอกาสเข้าร่วมประชุม ก.ต.ช. เพื่อเลือก ผบ.ตร.ทันที ทำให้คะแนนที่สนับสนุนนายตำรวจคนที่นายอภิสิทธิ์เสนอเท่ากับคะแนนฝ่ายตรงข้าม ล่าสุดทราบว่าจะมีขบวนการบีบให้นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ ก.ต.ช. ลงคะแนนเลือกคนที่นายกฯ เสนอ หากไม่ยอมทำตามจะถูกเล่นงานในกรณีที่ดินอัลไพน์ ที่อาจจะถูกเด้งไปช่วยราชการ และไม่มีสิทธิ์เข้าประชุม ก.ต.ช.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำหน้าที่ ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.พัชรวาทว่า ถ้า ป.ป.ช.ชี้แล้วก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งตนจะไปดูคำวินิจฉัยก่อน

ถามว่า จะมีการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็จะมีการพิจารณาแต่งตั้งรักษาการแทน ส่วนจะเป็น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ปรึกษา สบ.10 หรือไม่ ขอไปดูคำวินิจฉัยก่อน.


Label Cloud