Find Other Sides of Thai Politic. Update you on the political turmoil in Thailand.

อ่าน ทวิตเตอร์

Upcoming

Thursday, September 24, 2009

“อภิสิทธิ์”โชว์วิสัยทัศน์ สร้างสังคมประชาธิปไตย'ใหม่

“อภิสิทธิ์”โชว์วิสัยทัศน์ สร้างสังคมประชาธิปไตย'ใหม่ - Suthichaiyoon.com
วานนี้ (22 ก.ย.) เวลา 15.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่สหรัฐอเมริกา) ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ หัวข้อว่า “Post-Crisis Thailand : Building a New Democratic Society” สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ประเทศไทยนั้นได้เผชิญกับสองวิกฤติที่เกิดขึ้นพร้อมกัน จากภายในประเทศของเราเองและจากภายนอกประเทศ วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้โจมตีประเทศไทยเช่นเดียวกับในอีกหลายประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้ววิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจาก โลกาภิวัตน์ และกระทบไปยังทั่วโลก เริ่มต้นจากระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐและส่งผลทวีคูณไปทั่วโลก

วิกฤติที่สองที่เราเผชิญ ก่อตัวขึ้นในประเทศของเราเอง นั่นคือ วิกฤติทางการเมือง ที่ถูกพาดหัวข่าวในหลายประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ และในช่วง 9 เดือนที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศ เราได้รับความเชื่อมั่นจากมิตรประเทศมากขึ้น และที่มายืนอยู่ที่นี่ได้ ก็เป็นการพิสูจน์ว่าสถานการณ์ในประเทศดีพอและไม่มีอะไรที่น่าห่วงกังวล

ในระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้ได้พิสูจน์ให้ประชาชนชาวไทยเห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ เป็นตัวแทนของคนทุกสี แม้กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและเรียกร้องด้วยการเดินขบวนบนถนน รัฐบาลชุดนี้ยังคงเคารพสิทธิของการชุมนุมและสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้อง ในฐานะรัฐบาลจะทำให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่า การเคารพสิทธิดังกล่าวจะต้องดำเนินการภายใต้สันติสุขและมีความรับผิดชอบต่อหลักนิติรัฐและต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น

ภาพรวมของประเทศไทยช่วงหลังวิกฤติในปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่เริ่มดีขึ้น มีสัญญาณอย่างน้อย 3 ประการ ที่แสดงว่าเศรษฐกิจโลกและสหรัฐ รวมทั้งในประเทศไทยผ่านจุดต่ำสุด ความมั่นใจเริ่มกลับคืนมาและรัฐบาลต้องเริ่มเตรียมพร้อมสำหรับการกลับคืนสู่ภาวะปกติ เพื่อปรับรูปแบบทิศทางของสังคมโดยรวมเพื่อรับกับรูปแบบในอนาคต

เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยากที่จะมีประชาธิปไตยที่นำเราไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เราตระหนักดีว่าการไปสู่ประชาธิปไตยที่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้นยากและใช้เวลายาวนาน มีอุปสรรคจนแทบมองไม่เห็นจุดจบ ประเทศไทยเองผ่านประสบการณ์ทางประชาธิปไตย ตั้งแต่ในปี 2475 ที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบรัฐสภาอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมา ประเทศไทยมี 18 รัฐธรรมนูญ และมีการปฏิวัติรัฐประหารถึง 24 ครั้ง และเรามีถึง 4 รัฐบาล ในระยะเวลา 2 ปี แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นประชาธิปไตยของไทยได้หายไป

ในทางตรงกันข้าม ประชาธิปไตยกลับทำงานอย่างมีชีวิตชีวา เมื่อครั้งที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมาได้กล่าวว่า การเมืองไทยเผ็ดร้อนเช่นเดียวกับอาหารไทย

รูปแบบประชาธิปไตยที่จำเป็นว่าต้องเป็นประชาธิปไตย บนพื้นฐานนิติรัฐ ความรับผิดชอบ และสามารถตรวจสอบได้ เป็นประชาธิปไตยที่เสียงของประชาชนเป็นเสียงสำคัญในทุกกระบวนการตัดสินใจ ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง นอกจากนี้ ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เพียงแต่เคารพต่อเสียงส่วนใหญ่ แต่เสียงส่วนน้อยจะต้องมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม

แต่ทั้งนี้การจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยเช่นนั้น คือสิ่งท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ในฐานะผู้มีความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยอย่างเสรี ในฐานะนักศึกษาเศรษฐศาสตร์และการเมือง จะเสนอแนวความคิดว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างประเทศไทยสู่สังคมประชาธิปไตยใหม่

หลักการของการนำพาประเทศไทยไปข้างหน้า ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสังคมประชาธิปไตยแบบใหม่ และสามารถปรับใช้ได้ดีกับหลายประเทศที่นิยมประชาธิปไตย

ประการแรก สังคมประชาธิปไตยใหม่ ต้องอยู่บนพื้นฐานประชาชน และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีรัฐบาลไหนในปัจจุบันที่เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หากไม่ปกครองตามความต้องการของประชาชน ในประเทศไทย อาจได้ยินเกี่ยวกับการแตกแยกทางการเมืองตามสีต่างๆ ซึ่งนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมากว่า 9 เดือน

ประการที่สอง สังคมประชาธิปไตยใหม่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง จะต้องให้ความสำคัญกับความสมานฉันท์ การแตกแยกทางการเมือง ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ถ้าปราศจากความสมานฉันท์ การดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ หากการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การพัฒนาก็ไม่บรรลุผล แต่การสมานฉันท์ไม่ได้หมายถึงการเบี่ยงเบนกฎหมาย ตรงกันข้าม การบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นธรรมและมีประสิทธิผล จึงจะมีความยุติธรรมและทางออกของการแก้ปัญหาทางการเมือง

เมื่อกล่าวถึงความสมานฉันท์ในประเทศไทย นั้นหมายถึงความสมานฉันท์ในหลายระดับ ความสมานฉันท์ของความแตกต่างระหว่างประชาชนทุกสี ความสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่ความสมานฉันท์และสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้พยายามอย่างที่สุด เพื่อนำสถานการณ์สู่ภาวะปกติ เพื่อความมั่งคั่งและพัฒนาในระยะยาว พร้อมๆ ไปกับการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา สังคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้เริ่มชนะใจประชาชนในพื้นที่แล้ว ส่วนด้านชายแดนตะวันออก ความตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชา นั้น สถานการณ์เป็นเพียงเล็กน้อยในภาพรวมของความสัมพันธ์

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะไม่ใช้อารมณ์ และจะไม่ปล่อยให้ประเด็นนี้ประเด็นเดียวบดบังในเรื่องอื่น ความสมานฉันท์ เกิดได้ต่อเมื่อ มีความเข้าใจความท้าทายที่เผชิญอยู่ในทุกด้าน จุดแข็งและจุดอ่อน และข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงการพูดคุยและหารือด้วยความจริงใจ

ประการที่สาม สังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง กว่า 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ริเริ่มแผนการกระตุ้น เศรษฐกิจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพราะการลงทุนในประเทศไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนใน ตลาดที่มีพลเมืองแค่ 64 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการลงทุนในฐานการส่งออกสู่ภูมิภาค

อาเซียนที่กำลังจะกลายเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 ซึ่งมีประชากรประมาณ 600 ล้านคน ระบบเปิดไม่ใช่แค่เพียงรูปแบบทางเศรษฐกิจ แต่ยังหมายถึงทัศนคติและวิถีการดำเนินชีวิตคนไทยเป็นที่รู้จักกันดีในความใจกว้าง โดยได้เปิดรับชาวต่างชาติให้เข้ามาสู่สังคมไทยทั้งในฐานะ ผู้ค้าขาย ที่ปรึกษา นักเผยแผ่ศาสนา ฯลฯ กว่าหลายร้อยปีที่ผ่านมา

ประการที่สี่ การสนับสนุนการบริหารจัดการที่โปร่งใส การบริหารจัดการที่โปร่งใสเป็นปัจจัยสำคัญ ของระบอบประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศ

"สถานการณ์ทางการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ แท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ขาดการตรวจสอบ รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน มักอ้างความนิยมที่ได้รับและอาศัยฐานอำนาจนั้นในการหาผลประโยชน์สู่ตนเอง ทั้งที่จริงแล้วประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ความโปร่งใสในการบริหาร"

ประการที่ห้า การสนับสนุนความร่วมมือในระดับภูมิภาค กลุ่มอาเซียนกำลังเติบโตสู่ความเป็นประชาคม โดยได้มีการสร้างความตกลงทางการค้าต่อประเทศต่างๆ เช่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลี อินเดีย และ ญี่ปุ่น โดยอาเซียนจะเป็นพลังขับเคลื่อนพลังแรงงาน ที่สำคัญของโลก และยังอยู่ใกล้ กับ 2 ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก คือ จีนและอินเดีย ทำให้ได้รับการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนเป็นอย่างดี สิ่งสำคัญที่ยิ่งไปกว่าผลประโยชน์การบูรณาการในระดับภูมิภาค คือ การสร้างการพัฒนาการเมืองในระดับภูมิภาค ซึ่งจะต้องทำให้ประชาชนในระดับรากหญ้าได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมือง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง ที่สำคัญ ความร่วมมือในระดับภูมิภาคจะสร้างการทำงานเป็นทีมซึ่งทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม

ประการที่หก แนวนโยบายทางเศรษฐกิจ แนวนโยบายทางเศรษฐกิจจะต้องช่วยแก้ปัญหาและลดช่องว่างรายได้ของประชาชนในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ตระหนักในความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การดำรงชีวิตตามทางสายกลาง ประเทศไทยได้เรียนรู้จากวิกฤติครั้งที่ผ่านมาว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจระบบเปิดขนาดเล็กอย่างไทยไม่สามารถพึ่งพาแต่การส่งออกได้เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการส่งออกและการนำเข้า

รัฐบาลได้มีแผน กระตุ้นเศรษฐกิจระลอก 2 เพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ เราจะต้องสร้างการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะยาว ทั้งจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งสนับสนุนโดยภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้ง ความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่าย เรายังจะได้ขยายการสนับสนุนเศรษฐกิจ ในเชิงสร้างสรรค์ผ่านนวัตกรรมต่างๆ ของชาวไทย จาก 10 % ไปสู่ 20 % นอกจากนี้ ได้สนับสนุน การดูแลรักษาสภาพแวดล้อมผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวแบบคาร์บอนต่ำ

ประการที่เจ็ด นวัตกรรมและวิสัยทัศน์ เป็นสิ่งซึ่งจำเป็นในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ในการดำเนินนโยบาย ซึ่งประเทศต่างๆ ที่จะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่างต้องการวิสัยทัศน์ในการบริหารปกครอง ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะต้องรับมือกับความท้าทายประจำวัน แต่ยังต้องคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ถึง 5-10 ปีข้างหน้า วิสัยทัศน์ของประชาชนในชาติจะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

ประการสุดท้าย สิ่งสำคัญของการสร้างประชาธิปไตย คือ การศึกษา โดยสิ่งที่รัฐบาลมีความภาคภูมิใจมากที่สุดในการดำเนินนโยบายในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คือ นโยบายการให้การศึกษาฟรี 15 ปี การศึกษาจะเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสและความเท่าเทียม ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยต้องได้รับการเรียนรู้เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยต้องให้ ความสำคัญกับการสร้างความปรองดองในความแตกต่างในสังคม การสร้างทัศนคติแบบเปิด และการบริหารจัดการที่โปร่งใส รวมทั้งความร่วมมือในระดับภูมิภาค และการนำแนวนโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาบริหารจัดการอย่างมีวิสัยทัศน์



Label Cloud