Find Other Sides of Thai Politic. Update you on the political turmoil in Thailand.

อ่าน ทวิตเตอร์

Upcoming

Thursday, September 24, 2009

ทหารประชาธิปไตย ชูอนุสัญญา หลักฐานทวงคืนดินแดนเขาพระวิหาร

Bangkok Biznews Special Report
ทหารประชาธิปไตย ชูอนุสัญญา หลักฐานทวงคืนดินแดนเขาพระวิหาร

ข้อความต่อไปนี้คัดลอกจากอนุสัญญาสันติภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ๕ ก.ค.๒๔๘๔ ซึ่งเผยแพร่โดยกลุ่มทหารประชาธิปไตย โดยเชื่อว่าจะเป็นหลักฐานสำคัญ ยืนยันการครอบครองดินแดนที่มาเป็นข้อพิพาทในปัจจุบัน

อนุสัญญาสันติภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
ลงนาม ณ กรุงโตกิโอ วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔

สมเด็จพระราชาธิบดีพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยและประมุขแห่งรัฐฝรั่งเศส
โดยที่ได้สนองรับให้รัฐบาลญี่ปุ่นไกล่เกลี่ย เพื่อยังขัดกันด้วยอาวุธซึ่งได้มีขึ้น ณะ เขตต์แดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสให้ระงับถึงที่สุด
ยอมรับนับถือว่า จำเป็นดำเนินการปรับปรุงเขตต์แดนปัจจุบันระหว่างประเทศไทย กับอินโดจีนฝรั่งเศส เพื่อป้องกันมิให้มีการขัดกันเกิดขึ้นอีก ณะ เขตต์แดนนั้น และจำเป็นทำความตกลงกันในวิธีการรักษาความสงบในเขตต์แดน
มีความปรารถนาที่จะกลับสถาปนาสัมพันธ์ไมตรี ซึ่งมีสืบเนื่องมาระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสโดยบริบูรณ์
จึงได้ตกลงทำอนุสัญญาเพื่อการนี้ และได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มของแต่ละฝ่าย คือ
ฝ่ายสมเด็จพระราชาธิบดีพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงต่างประเทศ
พระยาศรีเสนาอัครราชทูตของสมเด็จพระราชาธิบดีพระมหากษัตรีย์แห่งประเทศไทย ประจำประเทศญี่ปุ่น
นายนาวาอากาศเอก พระศิลป์ศัสตราคม เสนาธิการทหารแห่งประเทศไทย
นายวนิช ปานะนนท์ อธิบดีกรมพาณิชย์
และ ฝ่ายประมุขแห่งฝรั่งเศส
ม.ชาร์ลส์ อาร์แซน - ฮังรี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศญี่ปุ่น
ม.เรอเน โรแบง ผู้สำเร็จราชการอาณานิคมกิตติมศักดิ์
ผู้ซึ่งเมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่กันและกัน และตรวจเห็นว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้องแล้วได้ทำความตกลงกันเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ สัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเป็นอันกลับสถาปนาตามมูลฐานสารัตถสำคัญแห่งสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์ และการเดินเรือ ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๓๗ (พ.ศ.๒๔๘๐)
ฉะนั้น จะได้มีการเจรจากันทางทูตโดยตรง ณะ กรุงเทพฯ โดยเร็วที่สุด เพื่อระงับบันดาปัญหาที่ค้างอยู่เนื่องจากการขัดกันให้เสร็จสิ้นไป

ข้อ ๒ เขตต์แดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส จะได้ปรับปรุงดังต่อไปนี้
จากเหนือลงมาเขตต์แดนจะได้เป็นไปตามแม่น้ำโขง ตั้งแต่จุดที่รวมแห่งเขตต์แดนประเทศไทย อินโดจีนฝรั่งเศสและพะม่า จนถึงที่จุดแม่น้ำโขงตัดเส้นขนานขีดที่สิบห้า (แผนที่ทบวงการภูมิศาสตร์แห่งอินโดจีน มาตราส่วน 1 ต่อ 500,000 )
ในตอนนี้โดยตลอด เขตต์แดนได้แก่เส้นกลางร่องน้ำเดินเรือที่สำคัญยิ่ง แต่ทว่าเป็นที่ตกลงกันชัดแจ้งว่า เกาะโขงยังคงเป็นอาณาเขตต์อินโดจีนฝรั่งเศส ส่วนเกาะโขงตกเป็นของประเทศไทย
ต่อจากนั้นไปทางตะวันตก เขตต์แดนจะได้เป็นไปตามเส้นขนานขีดที่สิบห้า แล้วต่อไปทางใต้ จะได้เป็นไปตามเส้นเที่ยงซึ่งผ่านจุดที่พรมแดนปัจจุบันระหว่างจังหวัดเสียมราฐกับจังหวัดพระตะบองจดทะเลสาบ (ปากน้ำสตึกกมบต)
ในตอนนี้โดยตลอด หากว่ามีกรณีคณะกรรมการปักปันที่บัญญัติไว้ในข้อ ๔ จะได้พยายามประสานเขตต์แดนเข้ากับเส้นธรรมชาติ หรือพรมแดนปกครองที่ใกล้เคียงกับเส้นเขตต์แดนตามที่นิยามไว้ข้างบนนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความยากลำบากในทางปฏิบัติต่อไปเท่าที่จะทำได้
ในทะเลสาบเขตต์แดนได้แก่เส้นโค้ง วงกลมรัศมียี่สิบกิโลเมตร จากจุดพรมแดนปัจจุบันระหว่างจังหวัดเสียมราฐกับจังหวัดพระตะบองจดทะเลสาบ(ปากน้ำสตึงกมบต) ไปบรรจบจุดที่พรมแดนปัจจุบันระหว่างจังหวัดพระตะบองกับจังหวัดโพธิ์สัตว์จดทะเลสาบ(ปากน้ำสตึงดนตรี)
ตลอดทั่วทะเลสาบ การเดินเรือและการจับสัตว์น้ำเป็นอันเสรีสำหรับคนชาติแห่งอัครภาคีผู้ทำสัญญาทั้งสองฝ่าย แต่ให้คุ้มเกรงเครื่องจับสัตว์น้ำคงที่ซึ่งตั้งอยู่ตามชายฝั่ง เป็นที่เข้าใจกันว่าตามเจตนารมณ์นี้ อัครภาคีผู้ทำสัญญาจะได้จัดทำข้อบังคับร่วมกันว่าด้วยการตำรวจ การเดินเรือ และการจับสัตว์น้ำ ในน่านน้ำทะเลสาบโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้
ต่อจากปากน้ำสตึงดนตรีไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เขตต์แดนใหม่จะได้เป็นไปตามพรมแดนปัจจุบัน ระหว่างจังหวัดพระตะบองกับจังหวัดโพธิ์สัตว์จนถึงจุดที่พรมแดนนี้ประสบกับเขตต์แดนปัจจุบันระหว่าง ประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส(เขากูป) แล้วให้เป็นไปตามเขตต์แดนปัจจุบันนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงทะเล

ข้อ ๓ อาณาเขตต์ที่รวมอยู่ระหว่างเขตต์แดนปัจจุบันแห่งประเทศไทยและอินโดจีน ฝรั่งเศสกับเส้นเขตต์แดนใหม่ตามที่นิยามไว้ในข้อ ๒ จะได้มีการถอนตัวออกไป และโอนกันตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพิธีสารภาคผนวกแห่งอนุสัญญานี้ (ภาคผนวก ๑)

ข้อ ๔ การงานปักปันเขตต์แดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสตามที่นิยามไว้ใน ข้อ ๒ นั้น ให้คณะกรรมการปักปัน ซึ่งจะได้จัดตั้งขึ้นภายในสัปดาห์หลังจากการใช้อนุสัญญานี้เป็นผู้กระทำ ทั้งในส่วนทางบกและส่วนทางน้ำ แห่งเขตต์แดนดังกล่าวแล้ว และให้ดำเนินการงานให้เสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งปี
การจัดตั้งและการดำเนินงานแห่งคณะกรรมการดังกล่าวแล้ว มีบัญญัติไว้ในพิธีสารภาคผนวกแห่งอนุสัญญานี้ (ภาคผนวก ๒)

ข้อ ๕ บันดาอาณาเขตต์ที่โอนให้ จะได้รวมเข้าเป็นส่วนแห่งประเทศไทยตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ :-
๑.ให้ปลอดการทหารโดยตลอด เว้นแต่อาณาเขตต์ชายแดนแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นส่วนแห่งแคว้นลาวของฝรั่งเศสอยู่แต่ก่อน
๒.ในส่วนเกี่ยวกับการเข้ามาการตั้งถิ่นฐาน และบันดาการธุระคนชาติฝรั่งเศส (พลเมืองคนในบังคับและคนในอารักขาฝรั่งเศส) จะได้รับผลประติบัติ ตลอดทั่วอาณาเขตต์ดังกล่าวแล้ว เท่าเทียมกันทีเดียวกับผลประติบัติ ตลอดทั่วอาณาเขตต์ดังกล่าวแล้ว เท่าเทียมกันทีเดียวกับผลการประติบัติที่ให้แก่คนชาติไทย
เป็นที่เข้าใจกันว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับคนชาติฝรั่งเศส สิทธิ์ที่ได้มาเนื่องจากสัมปทานผูกขาด และใบอนุญาต ซึ่งมีอยู่ ณะ วันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ.๑๙๔๑ จะได้รับความคุ้มเกรงตลอดทั่วอาณาเขตต์ที่โอนให้
๓.รัฐบาลไทยจะอำนวยความคุ้มเกรงเต็มที่ให้แก่บันดาที่บรรจุราชอัฎฐิ ซึ่งมีอยู่ณะฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบาง และจะให้ความสะดวกทุกประการแก่ราชวงศ์หลวงพระบาง และพนักงานราชสำนักในอันจะรักษาและเยายมเยือนที่บรรจุอัฎฐิดังกล่าวแล้ว

ข้อ ๖ ภายในเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพิธีสารภาคผนวกแห่งอนุสัญญานี้ (ภาคผนวก ๓) ให้ใช้หลักต่อไปนี้บังคับแก่เขตต์ปลอดการทหารที่ตั้งขึ้นตามความในอนุ ๑ แห่งข้อก่อนคือ
๑.ในเขตต์ปลอดการทหาร ประเทศไทยจะบำรุงกำลังพลถืออาวุธได้ก็แต่กำลังตำรวจที่จำเป็นสำหรับรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ทว่า ประเทศไทยสงวนสิทธิที่จะเพิ่มกำลังตำรวจขึ้นได้ชั่วคราวเท่าทีจักจำเป็นสำหรับดำเนินการตำรวจพิเศษ และทั้งสงวนอำนาจที่จะกระทำการขนส่งกองทหาร และเครื่องสัมภาระในอาณาเขตต์ของตน ข้ามเขตต์ปลอดการทหารตามที่ต้องการสำหรับดำเนินการตำรวจในเขตต์แขวงใกล้เคียง หรือดำเนินการทหารต่อประเทศภายนอกอนุสัญญานี้
ในที่สุด ในเขตต์ปลอดการทหาร ประเทศไทยจะได้รับอำนาจให้พักอากาศยานมหารที่ไม่มีเครื่องอาวุธได้ทุกเมื่อ
๒.ในเขตต์ปลอดการทหาร ห้ามมิให้มีค่ายมั่น หรือสถานการทหาร หรือสนามบินสำหรับใช้เฉพาะประโยชน์กองทัพ หรือมีคลังเก็บอาวุธหรือกระสุนปืนหรือยุทธภัณฑ์ เว้นแต่คลังเก็บเครื่องสัมภาระที่ใช้อยู่เสมอกับเชื้อเพลิงอันจำเป็นสำหรับอากาศยานทหารที่ไม่มีอาวุธ จึ่งจะมีได้
บันดาสถานที่พักอาศัยของกำลังตำรวจ จะมีองค์กรป้องกันซึ่งโดยปกติจำเป็นสำหรับความมั่นคงแห่งสถานที่นั้นๆ ก็ได้

ข้อ ๗ อัครภาคีผู้ทำสัญญาตกลงกันยกเลิกเขตต์ปลอดการทหารที่มีอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ในตอนที่ลำแม่น้ำนี้เป็นเขตต์แดนระหว่างประเทศไทยกับแคว้นลาวของฝรั่งเศส

ข้อ ๘ ในขณะที่การโอนอธิปไตยเหนืออาณาเขตต์ ซึ่งโอนให้แก่ประเทศไทยสำเร็จเด็ดขาดลง คนชาติฝรั่งเศสซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาเขตต์นั้นๆ จะได้สัญชาติไทยทีเดียว แต่ว่าภายในเวลาหนึ่งปีหลังจากการโอนอธิปไตยที่สำเร็จเด็ดขาดลงนั้น คนชาติฝรั่งเศสอาจเลือกเอาสัญชาติได้
การเลือกเช่นว่านี้ ให้กระทำโดนวิธีต่อไปนี้
๑. ส่วนพลเมืองฝรั่งเศส ให้ทำคำแถลงต่อเจ้าหน้าที่ปกครองผู้มีอำนาจ
๒. ส่วนคนในบังคับและคนในอารักขาฝรั่งเศส ให้โอนภูมิลำเนาไปอยู่ในอาณาเขตต์ฝรั่งเศส
ประเทศไทยจะไม่ทำการขัดขวางด้วยประการใดๆ โดยมีเหตุผลประการใดก็ตามต่อการที่คนในบังคับและคนในอารักขาฝรั่งเศสดังกล่าวแล้วจะถอนตัวออกไปนั้น หรือจะกลับเข้ามาหากว่ามีกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่จะออกไปนั้น จะจำหน่ายสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ได้โดยเสรี และจะขนสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด ปสุสัตว์ ผลิตผลเกษตรกรรม เงินตราหรือธนาคารบัตร์ของตนไปกับตัว หรือให้ขนส่งไปก็ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าศุลกากร ถึงอย่างไรก็ดี จะรักษาสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของตนในอาณาเขตต์ที่รวมเข้ากับประเทศไทยไว้ก็ได้

ข้อ ๙ ประเทศไทยและฝรั่งเศสตกลงกันสละเด็ดขาดการเรียกร้องใดๆ ในเรื่องการเงินระหว่างรัฐต่อรัฐ เนื่องจากการโอนอาณาเขตต์ดั่งที่บัญญัติไว้ใน ข้อ ๒ ทั้งนี้โดยประเทศไทยใช้เงินให้แก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนหกล้านเปียสตรอินโดจีน การใช้เงินจำนวนนี้ให้แบ่งใช้เป็นส่วนเท่าๆ กัน มีกำหนดหกปี นับแต่วันใช้อนุสัญญานี้
เพื่อให้การเป็นไปตามความในวรรคก่อน และเพื่อตกลงบันดาปัญหาเรื่องเงินและเรื่องการโอนมูลค่าต่างๆ ซึ่งอาจมีขึ้นเนื่องจากการโอนอาณาเขตต์ตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญานี้ ทบวงการที่มีอำนาจฝ่ายไทยและฝ่ายอินโดจีนฝรั่งเศส จะได้เริ่มเจรจากันโดยเร็วที่สุด

ข้อ ๑๐ การขัดกันใดๆ ซึ่งหากจะเกิดขึ้นระหว่างอัครภาคีผู้ทำสัญญาทั้งสองฝ่ายในเรื่องการตีความหรือการใช้บทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้ จะได้ทำความตกลงกันด้วยดีโดยทางทูต ถ้าการขัดกันนั้น ทำความตกลงกันเช่นนี้ไม่ได้ ก็จะได้เสนอให้รัฐบาลญี่ปุ่นไกล่เกลี่ย

ข้อ ๑๑ บันดาบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา และความตกลงที่มีอยู่ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้เป็นอันยังคงใช้อยู่ต่อไป

ข้อ ๑๒ อนุสัญญานี้ จะได้รับสัตยาบัน และจะได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณะ โตกิโอ ภายในสองเดือนหลังจากวันลงนาม หากว่ามีกรณี รัฐบาลฝรั่งเศสจะใช้หนังสือแจ้งการสัตยาบันแทนสัตยาบันสารก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐบาลฝรั่งเศสจะได้ส่งสัตยาบันสารสัตยาบันกัน ณะ โตกิโอ ภายในสองเดือนหลังจากวันลงนาม หากว่ามีกรณี รัฐบาลฝรั่งเศสจะใช้หนังสือแจ้งการสัตยาบันแทนสัตยาบันสารก็ไไปยังรัฐบาลไทยโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้
อนุสัญญานี้ จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเป็นต้นไป
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้มีอำนาจเต็มแต่ละฝ่ายได้ลงนามและประทับตราไว้เป็นสำคัญ ทำควบกันเป็นสามฉบับ เป็นภาษาไทย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ณะ โตกิโอ เมื่อวันที่เก้าเดือนที่ห้าพุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสี่ ตรงกับวันที่เก้าพฤษภาคม คริสตศักราชพันเก้าร้อยสี่สิบเอ็ด และวันที่เก้าเดือนที่ห้าปีสโยวาที่สิบหก

(ประทับตรา) วรรณไวทยากร
(ประทับตรา) ศรีเสนา
น.อ.ศิลปศัสตราคม (ประทับตรา)
วนิช ปานะนนท์ (ประทับตรา)
(ประทับตรา) CHARLES ARSENE HENRY
(ประทับตรา) RENE ROBIN



Label Cloud