Find Other Sides of Thai Politic. Update you on the political turmoil in Thailand.

อ่าน ทวิตเตอร์

Upcoming

Thursday, May 14, 2009

อัปยศ!แผนหั่น237 'ศักดิ์'ปูดใบสั่งยุบพรรค/มาร์คขวางเหนือเหนาะฮั้วเพื่อแม้ว


อัปยศ!แผนหั่น237 'ศักดิ์'ปูดใบสั่งยุบพรรค/มาร์คขวางเหนือเหนาะฮั้วเพื่อแม้ว | ไทยโพสต์
ปรองดองอัปยศ! อดีตตุลาการอุ้มซุกหุ้นปูดใบสั่งยุบพรรค จุดประเด็นขัดแย้งรอบใหม่ "ศักดิ์ เตชาชาญ" อ้างก่อนมีคำวินิจฉัยตุลาการศาล รธน.เสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันลงโทษแค่หัวหน้าพรรค เหน็บใครทำตามใบสั่งได้เป็นใหญ่เป็นโตกันหมด ประชุมอนุกรรมการฯ 3 ชุดไม่เห็นแสงรำไรปลายอุโมงค์ ส่อชำเรา รธน.เพื่อตัวเอง หั่น ม.237 หนียุบพรรค เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง รัฐบาลดาหน้าถล่ม "เหนาะ" วนในอ่าง

การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในชาติเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม เริ่มต้นอย่างคึกคักที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 คณะ

เริ่มต้นด้วย อนุคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย ที่วางกรอบการทำงานเพียง 2 สัปดาห์ ก่อนการประชุม นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง อนุกรรมการฯ ได้กล่าวกับนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ว่า อนุกรรมการฯ เห็นว่าแนวทางของนายเสนาะ เทียนทอง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ หลายแนวทางที่เสนอ สามารถทำให้ประเทศชาติสมานฉันท์ได้ แต่สื่อมวลชนนำไปลงข่าวให้เป็นด้านลบ

จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่วาระการประชุม โดยเริ่มต้นจากการคัดเลือกตำแหน่งอนุกรรมการฯ ซึ่งที่ประชุมได้มีการคัดเลือกแบบอะลุ่มอล่วย ใช้เวลาประมาณ 5 นาที และได้นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เป็นประธาน, นายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภาเภสัชกรรม ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธาน, นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขานุการ

ต่อมานายตวงทำหน้าที่ประธาน และเปิดโอกาสให้อนุกรรมการฯ นำเสนอปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเดิมๆ คือ ปัญหารัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ที่มีทั้งข้อดีและมีปัญหามาก แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องว่าสาเหตุหลักเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญ และการใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค ดังนั้นทางออกคือหาหนทางไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด

โดยนายเจริญกล่าวว่า ต้นตอของความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่การแก้กฎหมายโทรคมนาคม เพื่อขายหุ้นโทรคมนาคมให้เทมาเส็ก การประกาศยุบสภาของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณปี 2549 จนกระทั่งมาถึงการรัฐประหารและปิดทำเนียบฯ ปิดสนามบิน

นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการบริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาทิ การแทรกแซงองค์กรอิสระ ส.ว. รวมทั้งการใช้อำนาจเพื่อองค์กรของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น การประกาศว่าจะพัฒนาจังหวัดที่เลือกพรรคไทยรักไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหตุผลมาสู่ความขัดแย้งในปัจจุบัน

แต่นายประเกียรติแย้งว่า ปัญหาคือการรัฐประหารปี 2549 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 50 ที่ทำให้เกิดตุลาการภิวัตน์ และตามมาด้วยเรื่อง 2 มาตรฐาน โดยมีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ที่นำมาซึ่งการยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทำให้มวลชนที่สนับสนุนคนกลุ่มนี้เกิดความไม่พอใจ ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ หากแก้เรื่องพวกนี้จะสามารถแก้ปัญหาได้

เขาบอกว่า การผ่อนคลายความขัดแย้งระยะสั้นเร่งด่วน คือ การแก้ไขผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 220 คน ที่ไม่ได้รับจากรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งจะต้องออกกฎหมายช่วยเหลือ และไม่สามารถทำประชามติตัดสิน เพราะกรรมการบริหาร 220 คนถูกพิพากษาให้มีความผิด จึงต้องแก้ไขด้วยการออกกฎหมาย จึงอยากให้ที่ประชุมเห็นด้วยหรือไม่

เพื่อไทยอารมณ์ค้างซัดศาล

ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สาเหตุของความขัดแย้งของสังคมอีกประการคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีการพิจารณาคดีแค่ศาลเดียวเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งจะมั่นใจได้อย่างไรว่าทั้ง 9 คนที่ทำงาน 9 ปี จะไม่เป็นพรรคพวกใคร และจะไม่มีใครส่งมา ซึ่งถือว่าเป็นจุดอันตราย เพราะคนที่มาดำรงตำแหน่งนี้ต้องบริสุทธิ์ เราต้องยอมรับว่ามุนษย์เป็นกลุ่มมีพรรคมีพวกมาก่อน โดยตนเห็นว่าควรจะให้กำหนดอายุการทำงานให้สั้นที่สุดเท่าที่เขาจะทำงานได้

นอกจากนี้ ควรคืนความเป็นธรรมไม่เพียงแต่ผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 220 คน แต่ต้องเยียวยาให้แก่คนทุกกลุ่มคนทุกสี รวมทั้งข้าราชการต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาจากอีกฝ่ายจะต้องได้รับความเป็นยุติธรรมด้วย เพราะส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นางผุสดีกล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรมในวงอนุกรรมการฯ ไม่ควรเป็นผู้ตัดสินผิดหรือถูก เพราะเป็นนักการเมืองด้วยกัน ดังนั้นการจะให้ความเป็นธรรมผู้ที่ได้ผลกระทบ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย

ทั้งนี้ นายตวงได้รับปากนายประเกียรติว่าจะนำเสนอเรื่องการนิรโทษกรรม 220 คนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้นำคนภายนอกมาเสนอความคิดเห็น อาทิ กลุ่มนักวิชาการ เพื่อรวบรวมประเด็นให้แหลมคมขึ้น

ในที่ประชุมยังมีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกจากอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าการยุบพรรคการเมืองมีใบสั่ง ซึ่งเป็นข้อมูลของนายศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากในการตัดสินคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคภูมิใจไทย ได้ระบุว่า ประเด็นที่ยังไม่ได้พูดกันคือใบสั่ง ตนเคยเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ตอนมีคำสั่งยุบพรรค ขอกราบเรียนเบื้องหลัง ได้ถามเพื่อนฝูงทุกคนแล้วเห็นว่าไม่ควรยุบพรรค ควรแค่ลงโทษหัวหน้าพรรค เลขาธิการ และผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น (ลับ ลวง พราง??? - TDMZ)

"แต่พอจะเขียนคำวินิจฉัย ปรากฏว่ามีใบสั่ง ซึ่งไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง แต่ว่ามีใบสั่งมา มันสร้างความสับสนให้ผู้พิพากษาทั้งหมดที่จะเอาด้วยกับผม แต่ภายหลังเปลี่ยนใจไม่เอาแล้ว คำวินิจฉัยจึงออกมาน่าเกลียดมาก รวมทั้งเรื่องโมฆะการเลือกตั้งและองค์กรอิสระต่างก็เป็นใบสั่ง และผลก็ออกมาอย่างที่เขาคาดการณ์ทุกเรื่องร้อยเปอร์เซ็นต์"

เขาอ้างว่า ไม่ยอมทำตามใบสั่งจึงไม่เจริญถึงทุกวันนี้ หลายคนที่ทำตามใบสั่งก็เจริญรุ่งเรืองเป็นใหญ่เป็นโตในขณะนี้ ดังนั้นเราต้องหาวิธีพิสูจน์ว่าใบสั่งมีจริงหรือไม่ ถ้ามีต่อไปนี้ต้องเลิกเด็ดขาด

นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช อดีตผู้ว่าฯ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก ส.ว. โต้ทันทีว่า ได้ยินเรื่องใบสั่งก็หนักใจ แต่อยากถามว่ามีหลักฐานหรือไม่ ไม่น่าจะเป็นไปได้ คำพิพากษาปกติละเอียดมาก แต่ละคนที่นั่งตรงนั้นเป็นผู้มีเกียรติ มีความรู้ มีฐานะทางสังคม ใครจะออกใบสั่งได้ อย่างเก่งออกได้ 1-2 คน แต่ส่วนใหญ่ออกพร้อมกันทั้งคณะเป็นเรื่องยาก

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้พิจารณาคดียุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย ได้รับคำตอบว่า ที่นายศักดิ์พูด ไม่เป็นความจริง อย่างตนถามว่ามีใครจะมาสั่งได้ ตลอดชีวิตทำงานตั้งแต่เป็นผู้พิพากษา ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา และเป็นอิสระ หน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตรงนี้เข้ามาก็เพื่อทำให้บ้านเมือง ถือเป็นบั้นปลายชีวิตแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุดในชีวิต ไม่ควรนำเรื่องไม่จริงมาพูดให้เสียหาย

"มาบอกว่ามีใบสั่ง ถามว่าใครกล้าสั่ง ขนาดคนมีเงินเป็นแสนล้านยังไม่กล้ามาสั่ง แล้วถามว่าใครจะมาเขียนใบสั่ง อยากให้ไปหาคนสั่งมาให้ดูหน่อย ไปควานหามาได้เลย หลายคนทำงานมาตลอดชีวิตกว่าจะมาถึงจุดนี้ ส่วนที่คุณศักดิ์พูดจาพาดพิง แม้ไม่บอกว่าเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดไหน เรื่องการฟ้องร้องนั้นคงต้องไปถามนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญดูว่าท่านจะว่าอย่างไร"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องคดียุบพรรคนั้น พบว่าในการสั่งยุบพรรคคดีที่ตกเป็นที่สนใจของประชาชนมีด้วยกันทั้งสิ้น 4 พรรคคือ ไทยรักไทย พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย แต่พบว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนายศักดิ์ เตชาชาญ ที่มีนายผัน จันทรปาน เป็นรักษาการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้พิจารณาลงมติและเขียนคำวินิจฉัยคดียุบพรรคทั้งสี่พรรคแต่อย่างใด มีแต่การลงมติให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ เพราะหลัง คมช.ทำปฏิวัติ 19 ก.ย. 49 คดียุบพรรคไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ก็เป็นการพิจารณาของตุลาการรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายปัญญา ถนอมรอด อดีตประธานศาลฎีกาเป็นประธาน

โดยตุลาการรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวมีมติให้ยุบไทยรักไทยแต่ไม่ยุบประชาธิปัตย์ จากนั้นก็เป็นการพิจารณาคดียุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาฯ ของตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบัน ที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน จึงพบว่านายศักดิ์ไม่ได้พิจารณาคดียุบพรรค เพียงแต่ช่วงก่อนจะมีการปฏิวัติ 19 ก.ย. 49 สำนวนคดียุบพรรคไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ทางอัยการสูงสุดได้ส่งสำนวนไปให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนายศักดิ์แล้ว และคดีอยู่ระหว่างการเตรียมพิจารณาในชั้นศาลหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง แต่ปรากฏว่าเกิดการปฏิวัติเสียก่อน แล้ว คมช.มีประกาศให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนายศักดิ์พ้นสภาพการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะ สำนวนจึงถูกต่อไปให้ตุลาการรัฐธรรมนูญต่อไป

อีกห้องประชุมหนึ่งในรัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง และแต่งตั้งตำแหน่งในอนุกรรมการฯ โดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา เป็นประธาน, นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็นรองประธาน และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นเลขานุการ

จากนั้นประธานในที่ประชุมได้ให้โอกาสอนุกรรมการฯ แต่ละคนแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเสียงอนุกรรมการฯ เกือบทั้งหมดสมควรให้มีการปฏิรูปคน วัฒนธรรมทางการเมือง การศึกษา รวมถึงบทบาทในภาคส่วนต่างๆ อย่างเช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม ในส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อนุกรรมการฯ ได้มีความเห็นแย้งเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างผู้ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์

ปชป.เซ็งฤดูกาลแก้ รธน.

โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเล็ก เราไม่เคยตกผลึกในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำเหมือนเทศกาลงานวัด ฝังลูกนิมิต มีปัญหาทีหนึ่งก็ถกเถียงกันทีหนึ่ง วัฒนธรรมการเมืองของคนไทยก็เป็นอย่างนี้ และมั่นใจว่าอีก 4 ถึง 5 ปีข้างหน้าก็จะมีการถกเถียงการแก้รัฐธรรมนูญอีก มุมมองประชาธิปไตยของคนไทยไม่เหมือนกัน คนหนึ่งมองอย่าง อีกคนมองอย่าง ก็เลยมาฆ่ากัน ดังนั้นหลักใหญ่ของตนคือการปฏิรูปคน เราลองปรับตัวเข้าหารัฐธรรมนูญกันบ้างดีไหม เพราะคนมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และเช่นนั้นแล้วก็มีการแก้รัฐธรรมนูญตลอดเวลา

ส่วนนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เบื้องต้นเราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อเปิดประตูสู่การปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 291 ที่ทำให้เกิด ส.ส.ร. 3 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราที่ไม่เป็นธรรม แต่จะต้องไม่มีผลย้อนหลัง เช่น การยุบพรรคและอยากเสนอให้ตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ โดยอาจเป็นการดำเนินการภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

สำหรับการประชุมคณะที่ 3 คือ อนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ที่ประชุมมีมติเลือกประธาน รองประธาน และเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ดังนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา เป็นประธาน, นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธานคนที่ 1 และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นรองประธานคนที่ 2, นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ จากพรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

จากนั้น นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย เสนอว่า ควรนำข้อมูลจาก 2 ส่วนมาประกอบการพิจารณา คือ 1.บทสรุปความเห็นของแต่ละพรรคการเมืองเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้ และ 2.คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีนายกระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธาน เนื่องจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ศึกษาปัญหาไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นขอเสนอให้นำข้อมูลทั้งสองส่วนมาเป็นตุ๊กตาในการศึกษาด้วย

นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อนุกรรมการฯ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในสื่อมวลชนต่างๆ กล่าวว่าการเยียวยาอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งกลุ่ม 111 และ 109 คนทำเพื่อคนใดคนหนึ่งหรือไม่ และจะเป็นต้นตอปัญหาความขัดแย้งในอนาคตต่อไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ยากต่อการปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้มีการเขียนบทนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีการพูดถึงมาตรา 237 มาตรา 309 มาตราใดมาตราหนึ่ง ทั้งนี้ ขณะนี้ตนอยากเห็นประเด็นของพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด เพราะยังเหลือเพียงพรรคการเมืองเดียวที่ยังไม่เสนอความเห็นมายังคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งหากคณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นความเห็นครบทุกพรรคการเมืองแล้ว จะทำให้ง่ายต่อการทำงาน

นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อนุกรรมการฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีประเด็นที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องศึกษาหาข้อสรุปให้ได้ 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีหลายเรื่องไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2.ความขัดแย้งมาจากปัญหามาจากระบบการเมืองและสถาบันทางการเมืองหรือไม่ ถ้าใช่จะทำอย่างไร 3.ผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง เพราะหากไม่แก้ไขเสียทีเดียวก็จะเป็นปัญหาต่อการบริหารงานในอนาคต และ 3.ข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ที่คณะอนุฯ จะต้องเปิดโอกาสให้มีการรับฟังข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ ให้กว้างขวางมากที่สุด

"เจิม"ชี้ปี 48 เริ่มต้นขัดแย้ง

ขณะที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อนุกรรมการฯ จากประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า ความขัดแย้งของสังคมไม่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะความขัดแย้งของสังคมเกิดขึ้นในปี 2548 ดังนั้นถ้าไม่ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นอยู่ดี และความขัดแย้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นเพราะมีคนจะแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ดังนั้นขอให้คณะอนุฯ คิดให้ดีว่าอะไรคือสาเหตุแห่งความขัดแย้ง

"ผมไม่อยากเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง และอยากให้เราระมัดระวังการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะยิ่งทำให้เกิดวิกฤติหนักขึ้นถ้าทำไม่ดี" อนุกรรมการฯ ผู้นี้กล่าว

จากนั้นมีการโต้เถียงในมาตราต่างๆ ที่ถูกระบุว่าเป็นตัวปัญหา โดยเฉพาะมาตรา 237 โดยนายอรรคพล สรสุชาติ ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า มาตรานี้ใช้ในการยุบพรรคชาติไทย ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิด แต่เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนอย่างนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น จึงทำให้ต้องยุบพรรคการเมืองในที่สุด

ด้านนายเจิมศักดิ์ได้ตอบโต้ว่า ในช่วงที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นก็ไม่มีนักการเมืองท้วงติงมาตรานี้ ส่วนการยุบพรรคนั้นได้มีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพียงแค่เติมเหตุแห่งการยุบพรรคอีกหนึ่งเหตุเท่านั้น

แต่นายอรรคพลแย้งว่า เรื่องการยุบพรรคนั้นควรจะมีเหตุอันควร ไม่ใช่ว่าใครทำผิดคนเดียวแล้วมีโทษถึงยุบพรรค ในส่วนของประเด็นการแก้ไขที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอนั้น จะเห็นได้ว่ามาตรา 237 ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ให้ตัดวรรคสองออกไปเท่านั้น

ต่อมานายศุภชัยเสนอว่า อย่าเพิ่งลงในรายมาตรา ควรพูดเรื่องกรอบก่อนว่าจะเริ่มจากจุดไหน ให้เอาประเด็นที่พรรคการเมืองมอบมาให้นั้น ให้ฝ่ายเลขาฯ สรุปเป็นประเด็นว่าแต่ละพรรคมีประเด็นใดบ้างที่เสนอตรงกัน รวมทั้งนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีการศึกษาไว้แล้วมาดูด้วยว่าประเด็นใดบ้างที่มีผลต่อการบังคับใช้ คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาแก้ไขอยู่แล้ว จึงอย่ามาโต้แย้งว่าจะแก้หรือไม่แก้กันในตอนนี้

แต่นายเจิมศักดิ์ทักท้วงว่า หากเราพิจารณาตามที่พรรคการเมืองเสนอ คณะอนุกรรมการฯ ของเราก็จะกลายเป็นคณะที่แก้รัฐธรรมนูญตามที่พรรคการเมืองเสนอทันที ตนเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญแก้ได้ เพราะตนก็มี 30 กว่ามาตราที่อยากจะแก้ แต่เตือนเพื่อให้ระวังว่าอาจจะถูกโจมตีว่าเราไม่ต่างอะไรจากที่พรรคการเมืองเสนอมา

นายสุรชัยกล่าวเสริมขึ้นว่า ขอให้เปิดอกคุยกัน อย่าซ่อนเร้น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง เช่นมาตรา 237 นั้น ก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าทำผิดเพียงคนเดียวแล้วจะยุบพรรค มีการบอกไว้ชัดเจนว่ามีหลายองค์ประกอบ เช่น หัวหน้าพรรคมีส่วนรู้เห็นการกระทำความผิดนั้น หรือหัวหน้าพรรครู้แต่ไม่ตักเตือน เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ไม่มีการสื่อสารออกมาให้กับสังคมได้รับรู้ หรืออาจจะเป็นเพราะระบบการตรวจสอบที่ไม่เข้มแข็งหรือไม่ จึงอยากให้มองด้วยว่า หรือเป็นเพราะระบบตรวจสอบในอดีตไม่ทำงานหรือไม่ เพราะหลายมาตรา รัฐธรรมนูญเนื้อหาเดียวกัน เพียงแต่อยู่คนละฉบับเท่านั้น กลับกลายเป็นว่ามีปัญหาขึ้นมาได้

พล.อ.เลิศรัตน์จึงชี้แจงว่า อะไรที่เรามีก็ควรจะทำไปก่อน เพราะเวลาเรามีจำกัด ดังนั้นอะไรที่ทำได้เราก็ควรจะทำไปก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีลิมิตว่าจะทำเพียงแค่นี้เท่านั้น ที่ตนดูแล้วเห็นว่ามีผลต่อการทำงานคือเรื่องที่มาของ ส.ส. ซึ่งการที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาก่อนนั้นก็ไม่ใช่การใช้อำนาจอะไร แต่เพราะทุกพรรคมีข้อมูลเรื่องนี้ของตัวเองอยู่แล้ว จึงพยายามเลือกเรื่องที่ทุกพรรคเสนอมาตรงกันก่อน นี่คือเรื่องเร่งด่วนที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งจะทำให้การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันอังคารหน้า เราจะได้มีข้อมูลไปพูดในที่ประชุมได้ทันที

รื้อระบบเลือกตั้ง


ต่อมาที่ประชุมได้หารือกันต่อในประเด็นการเลือกตั้ง ส.ส.ตามที่พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเพื่อไทยเสนอ โดยตัวแทนทั้ง 3 พรรคเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรที่จะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนให้การเลือกตั้งเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว จำนวน 400 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แทนการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ เพราะเขตใหญ่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่มีเงิน มีอำนาจ และมีระบบหัวคะแนนสามารถเข้ามาเป็น ส.ส.ได้มากกว่าผู้สมัครที่เป็นคนดี มีความรู้ ส่วน ส.ส.แบบสัดส่วนนั้นควรที่จะปรับให้เป็นแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คนตามเดิม

ขณะที่ตัวแทนจากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาและพรรคประชาธิปัตย์เห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้คงเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วนตามเดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้ โดยนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ อนุกรรมการฯ ซึ่งเป็น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากระบบการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่จะทำให้การซื้อเสียงสามารถทำได้ยากขึ้น และทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกผู้สมัครที่มีความรู้แต่ไม่มีเงิน ส่วนเขตเล็กนั้น หากใครมีอิทธิพลสามารถยึดพื้นที่ตรงนั้น ไม่ว่าคนคนนั้นจะทำดีทำชั่วก็จะได้รับเลือกอยู่ตลอด ทั้งนี้ การเสนอความคิดเห็นครั้งนี้ไม่ได้เป็นมติของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

ถูกนายศุภชัยตำหนิว่า นายกฯ บอกให้ทุกพรรคสรุปประเด็น แต่พรรคประชาธิปัตย์เองกลับมีแต่ความเห็นส่วนตัวของตัวแทน ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ควรจะกลับไปคุยถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ก่อน ไม่ใช่ตัวแทนพรรคบอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัว แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็มาบอกทีหลังว่าไม่ใช่ความเห็นของพรรค อยากขอให้ถอดหัวโขน ถอดหน้ากากออกก่อน เพื่อแสดงความจริงใจต่อกัน

นายนิพนธ์ได้ชี้แจงว่า เรื่องรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะมายึกยักกัน ตนไม่มองประโยชน์ของใครหรือของพรรคไหนทั้งสิ้น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กำหนดอนาคตของประเทศ ซึ่งไม่ใช่ว่าพรรคประชาธิปัตย์เล่นเล่ห์เล่นเหลี่ยมอะไร แต่พรรคให้ตัวแทนใช้สิทธิ์ได้อย่างเปิดเผยและเต็มที่

หลังการถกเถียงนานกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง ที่ประชุมจึงได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. โดยจะเป็นการพิจารณาในมาตรา 68 และมาตรา 237 ว่าด้วยยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมือง

พล.อ.เลิศรัตน์แถลงภายหลังการประชุมว่า คณะอนุกรรมการฯ จะดูประเด็นหลักที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งที่ประชุมมีองค์ประกอบครบ ทั้งนักวิชาการซึ่งเป็นอดีต ส.ส.ร.2550 ส.ว. และ ส.ส.อย่างครบถ้วน โดยแนวทางการทำงานนั้น จะดูว่ามีประเด็นใดบ้างที่ควรมีการแก้ไข จากนั้นจึงมาดูอีกทีว่าเรื่องใดสำคัญก็จะพิจารณาก่อน

เขากล่าวว่า การพิจารณามาตรา 68 และมาตรา 237 เรื่องเหล่านี้เมื่อมีมติของอนุฯ ออกไปแล้วก็จะถูกเผยแพร่สู่ประชาชน และเมื่อมีผลตอบรับจากประชาชนกลับมา คณะอนุฯ ก็จะทำเป็นข้อสังเกตและข้อคิดเห็นเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป โดยบางเรื่องอาจจะต้องมีการทำประชามติ เพราะประชามติเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ยืนยันว่าคณะอนุฯ ยินดีเปิดรับทุกภาค ส่วนที่จะเสนอความคิดเห็นเข้ามา ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่นักการเมืองมาฮั้วกันเพื่อแก้กติกาให้นักการเมืองด้วยกันเอง

มท.3 ระบุยุบพรรคมีทุกประเทศ

ด้านนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวว่า เกี่ยวกับ ม.237 นั้น ทางพรรคยังไม่มีมติเรื่องนี้ แต่ขอให้เข้าใจว่า มาตรการการยุบพรรคการเมืองมีทุกประเทศ เพียงแต่ว่าแต่ละประเทศเขาจะกำหนดประเด็นเอาไว้หรือเรื่องใดไว้ที่จะนำไปสู่การยุบพรรค แต่ที่สำคัญที่สุด กระบวนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ล่าช้าอยู่ เพราะเกิดจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ถ้าพรรคการเมืองใดซื้อสิทธิ์ขายเสียง ก็ถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยอย่างโปร่งใส ดังนั้นต้องมีมาตรฐาน แต่จะยุบพรรคด้วยเหตุคนคนเดียวที่เป็นกรรมการบริหารพรรค หรือยุบพรรคด้วยเหตุความรู้เห็นเป็นใจของกรรมการบริหารพรรคทุกคนก็อยู่ที่รายละเอียด แต่ตนยืนยันว่าการยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการที่มีทุกประเทศ แต่ความเข้มข้นไม่เหมือนกัน

สำหรับข้อเสนอของนายเสนาะที่ให้ตั้งรัฐบาลเพื่อชาติ โดยให้ 2 พรรคใหญ่คือ ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยจับมือแล้ว มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้ระยะเวลา 1 ปีนั้น ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่เป็นคำตอบ เพราะไม่ใช่เรื่องของหลักการที่พูดถึงว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาหรือกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา จะกลายเป็นถูกมองว่าเป็นเรื่องของทุกพรรคจะมาแบ่งปันผลประโยชน์กันมากกว่า ถ้าไปสรุปอย่างนั้น จะเห็นได้ว่าช่วงที่เป็นฝ่ายค้านก็เคยมีข้อเสนออย่างนี้ ตนก็เห็นว่ามันไม่ใช่คำตอบ

ซักว่า มองเจตนาของนายเสนาะอย่างไร นายกฯ ตอบว่า เป็นความเห็นของท่าน และท่านก็เคยเสนออะไรคล้ายๆ อย่างนี้อยู่หลายครั้ง

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า "ข้อเสนอของคุณเสนาะ ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นลักษณะของการเปิดประเด็นขึ้นมาเพื่อนำไปสู่ข้อถกเถียงในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ส่วนในทางการเมืองจะเป็นจริงหรือไม่นั้น มันมีปัจจัยประกอบอย่างอื่นอีกเยอะ แต่ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมทุกพรรคยังบริหารได้ แม้ว่าจะไม่ราบรื่นนัก ก็ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่ และสิ่งที่คุณเสนาะพูดขึ้นมานั้น ผมไม่อยากตั้งข้อสังเกตว่าพูดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพราะเหมือนกับว่าถ้าไม่จับมือกันแล้วรัฐบาลจะเดินทางไปพื้นที่ใดก็จะมีปัญหาอยู่ร่ำไป และพูดเหมือนคุณเสนาะรู้ว่าใครเป็นคนทำ จึงทำให้เข้าใจไปได้ว่าเป็นการสร้างประเด็นที่เป็นแรงกดดันทางการเมือง แต่ผมไม่คิดว่าแรงกดดันนี้จะมีผลต่อการทำงานของรัฐบาลในขณะนี้"

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ถ้าทั้งสองพรรคสามารถจับมือกันได้ก็ถือเป็นสิทธิ์ เพราะเป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้ ส่วนถ้าทำได้จริงๆ พรรคภูมิใจไทยก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า แนวคิดของนายเสนาะคงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีประเทศเสรีใดในโลกที่ดำเนินการ ยกเว้นการเป็นเพียงประเทศที่มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์

"ยังไม่มีประเทศเสรีใดในโลกที่มีรัฐบาลแห่งชาติ นอกจากประเทศคอมมิวนิสต์ แม้จะมีการพูดกันตลอด แต่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องนอกทฤษฎี เป็นเรื่องใหม่ในโลกนี้" นายชาญชัยกล่าว.

Label Cloud