Find Other Sides of Thai Politic. Update you on the political turmoil in Thailand.

อ่าน ทวิตเตอร์

Upcoming

Monday, July 6, 2009

เปิดผลศึกษาข่าวเศรษฐกิจ ช่อง3 ไม่คุ้มค่าฯ

Business - Manager Online
งานนี้ “ไม่คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3” เหมือนสโลแกนของช่อง 3 เสียแล้ว เมื่อ สสส. ชี้ชัด ข่าวเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านเพื่อความอยู่รอดจากวิกฤติเศรษฐกิจมีแค่หยิบมือ แถมการนำเสนอข่าวเศรษฐกิจรวมไม่รอบด้าน ซ้ำร้ายผู้ประกาศข่าววางตัวเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจเสียเอง สวนทางช่องอื่นที่มีเพียบ

วันนี้ (2 ก.ค.) โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แสดงผลการศึกษา 2 เรื่อง เกี่ยวกับฟรีทีวี คือ “การรายงานข่าวเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ของสื่อฟรีทีวี” และ “รายการโทรทัศน์เพื่อการอยู่รอด ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นหัวข้อในการศึกษา ที่เกี่ยวเนื่องกัน

นายธาม เชื้อสถาปนาศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือมีเดียมอนิเตอร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาในหัวข้อแรก คือ “การรายงานข่าวเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ของสื่อฟรีทีวี” ศึกษาประเด็นเนื้อหาข่าวเศรษฐกิจ บทบาทหน้าที่การเสนอข่าวเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติ ว่าเป็นไปในทิศทางอย่างไร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา พบว่า ฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง คือ 3,5,7,9,11 และทีวีไทย มีรายการข่าวเศรษฐกิจรวมกันทั้งสิ้น 11 รายการ รวมเวลาการออกอากาศเพียง 1,525 นาที ต่อสัปดาห์

โดยช่อง 11 มีรายการออกอากาศมากสุด ขณะที่ช่องทีวีไทย มีการนำเสนอรายการข่าวเศรษฐกิจได้รอบด้าน และเจาะลึกมากที่สุดรวมทั้งมีการนำเสนอที่แตกต่าง โดยเฉพาะนำเสนอในมุมมองของชาวบ้านและพ่อค้าแม่ค้าด้วย

ส่วนช่อง 3 นั้น เป็นช่องที่ไม่มีรายการข่าวเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เนื้อหาข่าวเศรษฐกิจมักจะแทรกอยู่ในรายการข่าวหลักของทางช่องในรายการหลัก ได้แก่ ข่าววันใหม่, เรื่องเล่าเช้านี้, เรื่องเล่า เสาร์ อาทิตย์, รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ และรายการเรื่องเด่นเย็นนี้

โดยรูปแบบการรายงานข่าวเศรษฐกิจของทางช่อง 3 นั้น ยังพบอีกด้วยว่า 1.ในแง่ความลึกของข่าว จะไม่ค่อยมีความลึกมากเท่าใด เนื่องจากเน้นรายงานข่าวลักษณะปรากฏการณ์ นำข้อมูลบางส่วนมาจากแหล่งข่าวหนังสือพิมพ์ และสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็น, รอยเตอร์ ใช้วิธีเล่า-คุยข่าว ลักษณะการรายงานจะดูเหมือนจะมีความลึก แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง พบว่า จริงๆแล้วไม่ลึก เมื่อเทียบกับช่องอื่น กล่าวคือ ไม่มีการสืบประเด็นเฉพาะไม่มีรายงานพิเศษด้านเศรษฐกิจ ในลักษณะที่เป็นข่าวพิเศษหรือสกู๊ป ลักษณะการรายงานข่าว เป็นการ “รายงาน” ว่าอะไรเกิดขึ้นที่ไหน-อย่างไร แต่ไม่มีรายงานพิเศษเจาะข้อมูล

2. ในแง่ความกว้างของข่าว พบว่า เน้นแหล่งข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ (เจ้าหน้าที่รัฐ-พนักงานเอกชน) เป็นหลัก มักมีความคิดเห็นด้านเดียว ส่วนความคิดจากนักวิชาการหรือบุคคลที่สาม หรือชาวบ้าน มักไม่ปรากฏนัก อีกทั้งยังเน้นแต่เศรษฐกิจส่วงกลาง-เมืองหลวง และเน้นดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจหลักในระดับมหภาค เน้นเสนอข่าวระดับนโยบายและมีผลกระทบในวงกว้าง

ไม่ค่อยมีในระดับจุลภาค เนื้อข่าวจะเน้นมากโดยเฉพาะเรื่องปัญหาแรงงาน ตกงาน ตลาดหุ้น ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ เป็นหลัก ที่ส่งผลต่อความคิดของประชาชนให้รู้สึกว่า เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติจริงๆ

ที่สำคัญ ข่าวเศรษฐกิจของช่อง3 มักใช้พิธีกรข่าวเศรษฐกิจหลัก คือ “บัญชา ชุมชัยเวทย์” ซึ่งถนัดข่าวต่างประเทศมากกว่า ขณะที่ “สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา” เน้นข่าวเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และอธิบายเนื้อหาข่าวได้ละเอียด แต่ขาดการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ส่วน “สู่ขวัญ บุญกุล” เน้นรายงานข่าวต่างประเทศ แต่ก็ขาดความกว้างของข้อมูล เพราะเน้นข้อมูลจากสำนักข่าวไม่กี่สำนัก และมีลักษณะที่อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศมากกว่า แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงข่าวต่างประเทศได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยได้อย่างไร

“โดยรวมแล้ว ช่อง3 เป็นช่องที่มีวิธีการนำเสนอข่าวเศรษฐกิจไม่รอบด้านและไม่เจาะลึก ผู้ประกาศข่าวหรือพิธีกร หรือรูปแบบการนำเสนอ จะเน้นสีสัน ตื่นเต้น เร้าใจ ข้อดี คือ ผู้ชมย่อยข่าวได้ง่าย แต่ยังขาดการเชื่อโยงของข่าว เน้นคุยข่าวเป็นหลัก อีกทั้งผู้ประกาศข่าวยังดูเหมือนจะทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจเสียเอง เพราะแทบจะไม่ให้เครดิต หรือบอกแหล่งที่มาของผู้วิเคราะห์เศรษฐกิจเหล่านั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องของเวลาในการนำเสนอก็เป็นได้”

นายธาม กล่าวต่อว่า สำหรับหัวข้อที่สองที่มีการศึกษาต่อเนื่องจากหัวข้อแรก คือ “รายการโทรทัศน์เพื่อการอยู่รอด ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ” ซึ่งสำรวจในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 252 ที่ผ่านมา พบอีกว่า ช่อง3 เป็นช่องเดียวที่ไม่มีรายการข่าวเศรษฐกิจโดยเฉพาะ

ทั้งนี้จากฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องพบว่า มีรายการที่มีเนื้อหาเพื่อการอยู่รอดในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งสิ้น 34 รายการ มากกว่าปีก่อนประมาณ 1.7 เท่า รวมเวลาการออกอากาศที่ 1,850 นาทีต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 32 ชั่วโมง 12 นาทีต่อสัปดาห์

โดยช่องทีวีไทย เป็นช่องที่มีรายการประเภทนี้มากสุด ถึง 9 รายการ คือ รายการงานเข้า, ชั่วโมงทำกิน, แผ่นดินไทย, ทั่วถิ่นดินไทย, ชาววิทย์ชิดชาวบ้าน, ชุมชนต้นแบบ, สหเฮ็ด, สถานีประชาชน และรายการทุกทิศทั่วไทย

ส่วนทางช่อง3 นั้น เป็นช่องลำดับสุดท้ายที่พบว่ามี 2 รายการ ที่มีบางส่วนของรายการนำเสนอเนื้อหารายการในรูปแบบของ การอยู่รอดในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ คือ รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง และรายการ 30 ยังแจ๋ว รวมเวลาการออกอากาศของทั้งสองรายการ คือ 80 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 20 นาทีต่อสัปดาห์ คิดเป็น 0.8%ของเวลาการออกอากาศทั้งหมด


Label Cloud