Find Other Sides of Thai Politic. Update you on the political turmoil in Thailand.

อ่าน ทวิตเตอร์

Upcoming

Saturday, April 25, 2009

พท.ย้ำจุดยืนใช้ รธน.40 ทั้งฉบับ-ไม่เสนอนิรโทษฯ "ชวรัตน์"เชื่อ รบ.อยู่ครบวาระ "มาร์ค"ย้ำยังไม่ยุบสภา

Figure 7: 2007 Constitution of Thailand pamphl...Image via Wikipedia

หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์
ปชป.มอบ"บัญญัติ" เร่งศึกษารวมข้อมูลแก้ไขรธน. หน.เพื่อแผ่นดินเสนอเลิก"ยุบพรรค"- คืนชีพซากศพ

ปชป.มอบ"บัญญัติ" เร่งศึกษารวมข้อมูลแก้ไขรธน. หน.เพื่อแผ่นดินเสนอเลิก"ยุบพรรค"- คืนชีพนักการเมืองถูกตัดสิทธิ์ ขณะที่ พท.ย้ำจุดยืนเดิมให้ใช้ รธน.40 แทนทั้งฉบับ - ไม่เสนอนิรโทษฯ "ชวรัตน์" เชื่อแก้แล้วคลี่คลายปัญหาได้ รัฐบาลอยู่ครบวาระอีก 2 ปี "นายกฯ" ยันไม่ยุบสภา

ปชป.มอบ"บัญญัติ" เร่งศึกษารวมข้อมูลแก้ไขรธน.



นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีข้อสรุป จะขอรอให้ทุกพรรคนำเสนอประเด็นปัญหาเข้ามาก่อน รวมถึงจะเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ยินดีรับฟังทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการนิรโทษกรรมคดีอาญา นอกจากนี้ ยังขอรอผลการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ในวันจันทร์ที่ 27 เมษายน ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ตัวคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ที่จะต้องมีความเป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือ


นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ประธานคณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ศึกษาและรวบรวมข้อมูล และหวังว่าการประชุมร่วม 3 ฝ่ายในวันที่ 27 เมษายนนี้ จะสามารถได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ในเรื่องของการปฏิรูปการเมือง


"ชาญชัย"เสนอเลิกยุบพรรค-ปลดล็อกถูกตัดสิทธิ์

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน ถึงกรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อแผ่นดินว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องสิทธิทางการเมือง ซึ่งตนเองเห็นว่าไม่ควรมีบทลงโทษยุบพรรค และควรปลดล็อกให้บรรดานักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรคทั้งหมด 2.การกำหนดเขตเลือกตั้ง ที่ปัจจุบันกำหนดไว้กว้างมากเกินไป จนทำให้ส.ส.ดูแลประชาชนได้ไม่ทั่วถึง และ 3.การปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยตามระบบสากล

นายชาญชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ความเห็นดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น โดยพรรคเพื่อแผ่นดินจะจัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อรับฟังความเห็น ก่อนมีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 3 จ.ร้อยเอ็ด ในวันที่ 26 เมษายนนี้ ต่อไป


พท.ย้ำจุดยืนใช้ รธน.40 ทั้งฉบับ-ไม่เสนอนิรโทษฯ

นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ในฐานะฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายนว่า ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ที่เตรียมยื่นให้รัฐบาลพิจารณา ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอนายกรัฐมนตรีนั้น ยังคงย้ำจุดยืนเดิมที่จะให้นำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทั้งฉบับ มาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม พรรคยังเปิดกว้างรับฟังข้อเสนอจากพรรคอื่นและภาคประชาชน

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นเท่าที่ได้รับฟังจากพรรคอื่น ทราบว่าต้องการให้มีการแก้ไขเฉพาะหน้าบางประเด็น เช่น เรื่องสถาบันการเมือง การเลือกตั้ง องค์กรอิสระบางองค์กรที่เกี่ยวข้องและมาตราที่เป็นเรื่องของการบริหารเฉพาะหน้า จากนั้นจึงค่อยยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งประเด็นนี้พรรคเพื่อไทยพอยอมรับได้ เนื่องจากสอดคล้องกับแนวทางที่พรรคพลังประชาชน ช่วงสมัยที่นายสมัครสุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เคยพยายามผลักดันไปก่อนหน้านี้แล้ว

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมให้นักการเมืองที่ติดล็อกจากคำตัดสินคดียุบพรรคนั้น พรรคเพื่อไทยจะไม่นำเสนอ เพราะเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อันใด หากจะให้บรรดาผู้ที่ติดล็อกกลับมาทำงานการเมืองในช่วงที่รัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ แต่หากพรรคอื่นๆ จะมีการนำเสนอ ทางพรรคเพื่อไทยก็ไม่ขัดข้อง


"มาร์ค"หวังทุกฝ่ายยอมรับตั้ง"กก."


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงแนวทางแก้ความขัดแย้งทางการเมืองว่า มอบหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ดำเนินการแก้ไข เพราะหากเป็นฝ่ายบริหารจะมีคนหวาดระแวง และเคลือบแคลงว่าทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา จะหารือร่วมกับวิป 3 ฝ่าย เพื่อตั้งคณะกรรกมารขึ้นมา 2 ชุด 1.คณะกรรมการประมวลเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ และ 2.คณะกรรมการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง หวังว่าทุกฝ่ายจะให้การยอมรับคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้น ไม่เช่นนั้นกระบวนการก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ตนเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะทำให้สังคมส่วนใหญ่ตื่นตัวว่าจะปล่อยให้ความแตกแยกเหล่านี้อยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว รัฐบาลไม่เคยเลือกปฏิบัติ แต่การลงพื้นที่คงต้องรอให้อุณหภูมิเย็นลงก่อน และต้องรอให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเองได้ จากนั้นจะก้าวไปอีกขึ้นหนึ่งในการหาทางออกทางการเมือง

"เช้าวันนี้ผมได้พบกับชาวต่างชาติ 2 คน ที่สนใจการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศไทย ก็ได้แลกเปลี่ยนความเห็นและพูดคุยกันชัดเจนว่าสิ่งที่จะหลอมรวมจิตใจของพี่น้องประชาชนในการสร้างความสามัคคีที่สุด ก็คือความมุ่งหมายในการฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดูแลผู้ที่ควรด้อยโอกาส ทั้งคนชรา เด็ก และคนตกงาน"นายกรัฐมนตรีกล่าว


ย้ำไม่ยุบสภารอแก้รธน.ก่อน

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็เป็นคำตอบสำคัญคำตอบหนึ่งสำหรับคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งต้องยอมรับความจริงที่จะต้องให้นักการเมืองเป็นผู้เริ่ม หากนักการเมืองไม่เอาด้วยกระบวนการก็เดินต่อยาก เพราะเมื่อนักการเมืองเริ่มต้นแล้วจะสามารถขยายวงให้ส่วนอื่นเข้ามาร่วมด้วย สำหรับความเห็นของกลุ่ม 40 ส.ว.หรือแม้แต่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ก็สามารถเสนอไปยังคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาได้ เพราะความเห็นแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน

"ที่ดำเนินการเช่นนี้ไม่ใช่การซื้อเวลา เพราะถ้าผมมีความจำเป็นต้องตัดสินใจทางการเมืองผมก็จะว่าไปตามสถานการณ์ไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าเป็นปีนี้หรือปีหน้า แต่ส่วนตัวไม่เชื่อว่าการยุบสภาจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะ 1.ถ้ายุบสภาวันนี้ ก็ยังใช้กติกาซึ่งหลายคนบอกไม่ยอมรับ แล้วถ้ามีทุจริตและยุบพรรคอีก ไม่ยิ่งซ้ำเติมวงจรปัญหาหรือ 2.การเลือกตั้งจะเป็นทางอออกเมื่อทุกพรรคสามารถไปหาเสียงได้ทุกที่โดยปราศจากความรุนแรง ฉะนั้นต้องทำกติกาให้ทุกฝ่ายยอมรับก่อนคงลงไปเล่น ใช้เวลาไม่นานหรอกครับ เมื่อกฎหมายให้ความเป็นธรรม และทุกคนยอมรับแล้ว จะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง"นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลนี้จะอยู่พ้นปีนี้ไหม นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธจะตอบคำถาม กล่าวเพียงว่า จะขอทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด เพราะเชื่อว่าสังคมอยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่จะไม่ไปประกาศว่ารัฐบาลต้องอยู่กี่ปี เพราะจะไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มเติมอีก ยืนยันว่าสิ่งไหนที่ดีต่อประเทศที่สุดก็จะทำไปตามนั้น


เร่งเครื่องหาทางออกการเมือง

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลถึงภารกิจของนายอภิสิทธิ์ ตลอดทั้งวันของวันที่ 24 เมษายน ว่า ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ศ.ดร.โทมัส ไมเออร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ จากเยอรมนี ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักการเจรจาและการประนีประนอมทางการเมือง ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือเกี่ยวกับประชาธิปไตย และแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศไทย มีการแลกเปลี่ยนรับทราบปัญหา การดำเนินการของรัฐบาล เห็นตรงกันว่าในกระบวนการสมานฉันท์ ประนีประนอม และแก้ปัญหาทางการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน ในการปฏิรูปการเมือง จะต้องเป็นกระบวนการที่ยอมรับทั้งในประเทศและสากล ประชาธิปไตยจึงจะเดินหน้าต่อไปได้หลังเกิดสภาวะวิกฤต ซึ่งมาจากผลวิจัยในหลายพื้นที่ว่าถือเป็นกระบวนการเดียวที่จะนำมาสู่ความปรองดองและสร้างเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางนายกฯที่ต้องการให้มีกระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นที่รัฐสภา ส่วนกลุ่มที่ไม่ยอมและปฏิเสธทุกรูปแบบไม่เข้าร่วมนั้น ภาคประชาสังคมและนานาชาติจะมองว่ากลุ่มเหล่านั้น ได้ปฏิเสธกระบวนการประชาธิปไตย

นายปณิธานกล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือกับคณะนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนสหรัฐอเมริกา กลุ่มของสาธุคุณแจสซี่ แจ๊คสัน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต และเคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2 ครั้ง ผู้มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในหลายประเทศ ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัล เรแกน และนายบิล คลินตัน ได้หารือถึงสถานการณ์การเมืองไทย แนวทางการหาทางออกการเมืองไทยหลายเรื่อง เช่น การปฏิรูปการเมืองและสังคมหลังผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าหลังจากวิกฤตการเมืองจะมีกลุ่มคนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศมีผลกระทบ



Reblog this post [with Zemanta]

Label Cloud