หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ - เผย10ปมเสื้อแดงสู้ จับตาปรับยุทธศาสตร์เหมือนพคท.
หน่วยข่าวกรองประเมิน10ประเด็นเสื้อแดงฮือสู้ คาดปรับยุทธศาสตร์ใหม่รุนแรงขึ้น จับตาเปลี่ยนโครงสร้างเคลื่อนไหวตามรอยพรรคคอมมิวนิสต์ หวังสร้างแนวร่วมเพิ่มในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน-นศ.
เมื่อวันที่ 27 เมษายน ศูนย์ปฏิบัติการข่าวกรองแห่งชาติ (ศป.ข.) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปการประเมินแนวโน้มสถานการณ์ความมั่นคงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง
1.ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงยังน่ากังวล ค่อนข้างแน่ชัดว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อไป และมีความเป็นไปได้ว่าจะเคลื่อนไหวจนถึงขั้นที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้อีก เนื่องจากกลุ่มเสื้อแดงยังคงมีศักยภาพที่จะเคลื่อนไหวต่อไป และยังคงมีมวลชนที่เข้มแข็ง แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่บรรลุเป้าหมายในการล้มรัฐบาลก็ตาม กลุ่มเสื้อแดงยังมีขีดความสามารถที่จะฟื้นฟูการเคลื่อนไหว และมีวิธีดำเนินการหลายหนทาง โดยเฉพาะการโหมทำสงครามข่าวสาร เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อโจมตีรัฐบาลและกองทัพอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสื่อมวลชนในและต่างประเทศ รวมทั้งอินเตอร์เน็ต ควบคู่ไปกับการปลุกระดมมวลชน การจัดชุมนุมย่อยในพื้นที่กรุงเทพฯและภูมิภาค ตลอดจนการเคลื่อนไหวผ่านทางเครือข่ายแกนนำ ส.ส. หัวคะแนน ในการลงพื้นที่เพื่อฟื้นฟูและขยายแนวร่วมมวลชนในระดับต่างๆ เพื่อพร้อมสำหรับการเคลื่อนไหวครั้งต่อๆ ไป
2.ศักยภาพและขีดความสามารถของกลุ่มเสื้อแดง ภายหลังการยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มเสื้อแดงได้รับความสูญเสียบางส่วน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สูญเสียความเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศไปมากและมีคดีเพิ่ม และถูกกดดันในด้านพื้นที่ที่จะอยู่อาศัยและเสรีภาพในการเดินทาง รวมทั้งสูญเสียทางการเงินและโอกาสหารายได้
ส่วนระดับนำที่เป็นมันสมองใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มเสื้อแดง โดยเฉพาะกลุ่มคนเดือนตุลาฯซึ่งมีอยู่หลายคน ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนใดๆ และน่าจะเป็นกลุ่มที่ยังคงปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ต่อไปแต่อาจถูกจำกัดความเคลื่อนไหว ทำให้คนที่ออกมาดำเนินการต่อเป็นแกนนำระดับรองๆ ขณะที่นายจักรภพ เพ็ญแข น่าจะดำเนินการเคลื่อนไหวในทางลับใต้ดินต่อไป ซึ่งจะมีความสามารถในการชี้นำยุยงผ่านทางสื่อที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการปิดสถานีโทรทัศน์ดีสเตชั่น วิทยุชุมชน เว็บไซต์ที่ยุยงให้ใช้ความรุนแรง เป็นมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ส่วนมวลชนรากหญ้าทั้งในเมืองและในชนบท โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน น่าจะยังมีความเข้มแข็งและมีจำนวนมาก
3.ในระยะเวลา 1-2 เดือนจากนี้ไปกลุ่มเสื้อแดงอาจจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะการสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเพื่อนำไปวางแผนอุดช่องว่าง และแสวงหาช่องทางที่จะสามารถชิงเป็นฝ่ายรุกในการสร้างประเด็นใหม่ๆ สร้างเงื่อนไขกดดันรัฐบาล ทั้งบนดินและใต้ดินต่อไปจนกว่าบรรลุเป้าหมาย
4.โครงสร้างการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ระดับแกนนำยังคงเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากนั้นคือ นายจักรภพ และคนเดือนตุลาฯที่เคยเข้าร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ส่วนระดับปฏิบัติมีหลายระดับ หลังจากที่มีการออกหมายจับ ทำให้แกนนำระดับรองมาทดแทน เช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายขวัญชัย ไพรพนา ร่วมทั้งแกนนำระดับภูมิภาคและมีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีกลุ่มนักรบไซเบอร์ดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อ เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จปลุกปั่นยุยง
5.กลุ่มที่น่าให้ความสำคัญมากที่สุดคือฐานมวลชนของกลุ่มเสื้อแดง ที่ถูกแสวงประโยชน์ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
6.แนวคิดของกลุ่มเสื้อแดง มีข้อสังเกตถึงการเน้นชี้นำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างอำมาตย์กับประชาชน ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นอย่างชัดเจน
7.การชี้นำทางความคิด มีอิทธิพลสูงต่ออารมณ์ความรู้สึกของมวลชนเสื้อแดงโดยเฉพาะรากหญ้าที่นิยม พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะยังให้การสนับสนุนและพร้อมเคลื่อนการชุมนุมเมื่อมีการนัดหมาย หากรัฐบาลไม่สามารถสถาปนาความไม่สงบเรียบร้อยได้อย่างแท้จริง และการปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ผล ซึ่งรูปแบบการขยายจำนวนมวลชนจะคล้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต โดยใช้เครือข่ายชนบท ร่วมกับการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ตลอดจนนักการเมืองและผู้นำท้องถิ่น ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ การใช้วิธีจรยุทธ์ในเมือง การชุมนุมประท้วง ร่วมกับการดำเนินงานในรัฐสภา
8.เครื่องมือที่สำคัญที่กลุ่มเสื้อแดงจะใช้ในการปลุกระดมประชาชนในต่างจังหวัด ประกอบกับการใช้สื่อทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และระบบอินเตอร์เน็ต ส่วนการใช้อาวุธมีความเป็นไปได้เนื่องจากมีข้อมูลข่าวสารบ้างแล้ว แต่ยังต้องตรวจสอบความถูกต้องอยู่ ทั้งนี้น่าจะถึงขั้นตั้งกองกำลังติดอาวุธอย่างที่ พคท.เคยทำมาในอดีต
9.มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะพยายามสร้างแนวร่วมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักศึกษา เพื่อขยายมวลชนให้ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เกษตรกรที่ผลผลิตเสียหายหรือราคาตกต่ำ รวมทั้งราษฎรที่ขัดแย้งกับโครงการต่างๆ ของรัฐ
10.ด้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปัจจุบันยังสามารถรักษามวลชนได้อย่างเหนียวแน่น เหตุการณ์ลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญ กลุ่มพันธมิตร ยังไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงในทันที แต่มีการแสดงท่าทีพร้อมจะเคลื่อนไหว รวมถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านการดำเนินงานของรัฐบาล ที่ขัดกับจุดยืนของพันธมิตรโดยเฉพาะการนิรโทษกรรมนักการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ