กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ - เบื้องลึกส.ว.กระโดดร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลผสมที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มสั่นคลอนอันเป็นเรื่องธรรมดาของรัฐบาลที่มีหลายพรรคการเมืองConstitution, Thailand, Politics,
มาร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้ "ง่าย" ต่อการ "ไม่ลงรอย-ไม่ลงตัว"
ผลอันสืบเนื่องมาจากการเมืองที่เริ่มไม่ลงตัวในหลายกระทรวง ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ
ข่าววงในด้านการศึกษาไทย บอกว่า เราจะปฏิรูปการเมือง แต่การศึกษายังติดอยู่ในหล่มโคลน เพราะเกิดความขัดแย้งของผู้ใหญ่ที่เกิดการ "ขวางทางปืน" กันอยู่ในเวลานี้
ดังนั้น หลายกระทรวงเวลานี้จึงเห็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทำงานเฉพาะหน้า หรือแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ แต่สำหรับการเมืองระยะยาว มีเหตุผล และคำตอบอยู่ที่ว่า เวลานี้ทำไมนักการเมืองต้องกระเหี้ยนกระหือรืออยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนขวากหนามที่สุดแล้วในอนาคตพรรคเล็กพรรคน้อย จะไหลรวมกันเป็นพรรคการเมืองใหญ่ และโดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มี ส.ว.สายพรรคการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ว.เลือกตั้ง จึงรวบรัดตัดตอนกระบวนการร่วมประชุมกับวิปรัฐบาล วิปผ่านค้าน เสนอชื่อ ส.ว.และนักวิชาการ ในโควตา ส.ว. เข้าไปเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ มีการอ้างในที่ประชุมกรรมาธิการกิจการวุฒิสภาถึงเหตุผลที่ ส.ว.เข้าผสมโรงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า "เหล็กกำลังร้อนต้องตีไว้ก่อน"
เหตุผลเพียงเท่านี้ไม่ได้ชักจูงให้คณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา เออออให้เป็นมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ การที่อ้างเช่นนั้นโดยยกตนเองว่ามีตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ในกรรมาธิการ เพื่อสร้างเครดิตให้กับตัวเองเท่านั้น
ดังนั้น จะสังเกตได้ในทันทีว่า ส.ว. 2 คน ที่ได้รับการเสนอชื่อ คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย จึงขอถอนตัวทันที เพราะที่ดำเนินมาทั้งหมดนั้นขัดกับ "ปฏิญญาเขาใหญ่"
ปฏิญญาเขาใหญ่ ที่ ส.ว.ร่วมกันวางหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่า
1. ถ้า ส.ว.คนใดจะไปร่วมกิจการการเมือง ต้องอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อทราบถึงความรู้ความสามารถของ ส.ว.ผู้นั้นเสียก่อน
2. การที่ ส.ว.คนไหนจะไปร่วมกิจกรรม หรือร่วมเป็นกรรมการประเด็นทางการเมือง ต้องขอมติจากที่ประชุมวุฒิสภา 150 คน เท่านั้น
ดังนั้น จึงมีการเสนอชื่อ นายอนุรักษ์ นิยมเวช และนายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ เข้ามาแทน นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และในการเปลี่ยนโผรายชื่อกรรมการครั้งนั้นมีคนบอกว่า "ไม่เป็นไรผมรับผิดชอบเอง"
เมื่อเห็นการรวบรัดตัดตอนเช่นนี้ จึงมี ส.ว.จำนวนมากโทรศัพท์ไปขอปรึกษากับ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา และนี่เองจึงเป็นที่มาของการยกเลิกรายชื่อกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของวุฒิสภา
ดังนั้น จึงมีการเรียกประชุมกันอย่างเคร่งเครียดระหว่าง นายประสพสุข นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นางทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 และนายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม ในฐานะเลขาธิการวิปวุฒิสภา ซึ่งต่างคนต่างมีความเห็นแตกต่างและมีการอ้างถึง "ปฏิญญาเขาใหญ่"
ทั้งนี้ วุฒิสภา ต้องเป็นกลางทางการเมือง เพื่อแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่สูงกว่า ส.ส. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ ส.ส.ยังไม่ตกผลึกว่าจะปฏิรูปการเมืองด้วยการสร้างความปรองดอง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ ก็แตกเป็น 2 ฝ่าย ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็ประกาศไม่ส่งรายชื่อ ส.ส.เป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ
ผลของหารือครั้งนี้ เป็นที่มาของการส่งข้อความสั้น (sms) เพื่อนัดประชุมวุฒิสภาในเวลา 13.00 น.ของวานนี้ (29 เม.ย.) ซึ่งก็ไม่ใช่การประชุมวุฒิสภาเพื่อให้ ส.ว.แสดงวิสัยทัศน์ หรือให้ ส.ว.ลงคะแนนเลือกเป็นตัวแทนเข้าร่วมกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ
ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า สมาชิกวุฒิสภา รู้หรือไม่ว่าที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ไม่ใช่ฝ่ายเรียกร้อง แต่เป็นฝ่าย ส.ส.ทำไมวุฒิสภาต้องเร่งรีบชิงตั้งกรรมการทั้งที่นักการเมืองบางพรรคเขาไม่สนใจเข้าร่วมด้วยซ้ำ
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ โครงสร้างของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ ที่กำหนดมานั้นไม่มีความเหมาะสม เพราะไม่มีส่วนไหนที่ยึดโยงประชาชน แม้จะอ้างว่ามีนักวิชาการ แต่นักวิชาการเหล่านั้นก็มาจากการเสนอชื่อของนักการเมือง ซึ่งจะต้องเกรงใจผู้ที่เสนอชื่อและคล้อยตามผู้ที่เสนอชื่อ
นอกจากนี้จะเกิดคำถามใหญ่ ว่า ที่ ส.ส. และ ส.ว.เร่งรีบผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น มีส่วนไหนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะทุกวันนี้ประชาชนฉลาดขึ้น สามารถมองออกว่าทุกมาตราที่เสนอมา ล้วนแต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของ ส.ส.เท่านั้น อาทิเช่น เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งให้เล็กลง ก็เพื่อให้นักการเมือง เขาจ่ายเงินซื้อเสียงได้ง่าย และจ่ายเงินน้อยลง รวมทั้งการแก้ไข มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค มาตรา 265-266 เรื่องผลประโยชน์ที่ ส.ส.ต้องการนั่งควบตำแหน่งทางการเมือง
มาตราต่างๆ เหล่านี้มีคำถามจากสังคมอีกว่า ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้บ้าง นอกจากพบแต่การ "ฮั้ว" กันของนักการเมือง หากเป็นเช่นนี้บ้านเมืองก็จะเกิดความวุ่นวาย เพราะเหลือง และแดง ต่างมีจุดยืนที่ต่างกันสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันอาจนำมาสู่การชุมนุมของคนจำนวนมาก เกิดการเผชิญหน้าจนมีการก่อจลาจล นำไปสู่วิกฤติ และที่สำคัญจะนำไปสู่การทำรัฐประหาร
น่าเสียดายคำพูดที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งพูดไว้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ว่าจะตั้งกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือคณะกรรมการตรวจสอบการสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้ทำไมจึงรวบรัดให้เหลือเพียงกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ เพียงชุดเดียว แล้วอ้างชื่อความปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เป็นเพราะแรงบีบจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ และ ส.ว.สายการเมืองก็ฉวยจังหวะนี้กระโดดไปรับลูกนักการเมือง เป็นตัวตั้งตัวตีขับเคลื่อนแก้รัฐธรรมนูญ
นี่คือเบื้องลึกเบื้องหลังที่ว่า ทำไม ส.ว.ส่วนหนึ่งจึงเริ่มเห็นต่างในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่อยากเห็น "การหักด้ามพร้าด้วยเข่า" ด้วยการเรียก ส.ว.มาประชุมโดยผ่าน sms แล้วรวบรัดเสนอชื่อกรรมการที่มีการเตรียมตั้งสมัครพรรคพวกของตัวเองเอาไว้แล้ว
หากเป็นเช่นนี้ "ปฏิญญาเขาใหญ่" ซึ่งเสียเงินเสียทองไปประชุมจึงเป็นแค่ไม้หลักปักขี้เลน
เพราะฉะนั้นจึงต้องกลับมาตั้งสติว่าเราจะปฏิรูปประเทศไทยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน ซึ่งมันก็มีแต่ฉิบหายแล้วจะมุ่งหน้าเดินไปสู่จุดนั้นกันทำไม